กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--สพฉ.
สพฉ. จับมือ รพ.ขอนแก่น ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ หวังพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เร่งผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยของรถพยาบาลหลังผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ย้ำรถพยาบาลต้องมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยครบถ้วน ต้องไม่ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด พร้อมชูติดตั้ง GPS ในรถพยาบาลเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน
ที่โรงพยาบาลขอนแก่น วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 7 บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประกันภัยจากรถ จำกัด ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือทางการวิชาการ วิจัย ปฏิบัติการและการฝึกอบรมในการช่วยเหลือประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การบันทึกความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาของระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย สพฉ. และโรงพยาบาลขอนแก่น จะร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างกัน สนับสนุนเพื่อให้เกิดการวิจัยและการค้นหาคำตอบเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งในภาวะปกติและภาวะสาธารณภัย อีกทั้งจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วย โดยในประเด็นแรกที่จะมีการพัฒนาร่วมกันคือเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาล หรือ AMBULANCE SAFETY
“สพฉ.ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานและเรื่องความปลอดภัยของผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นพิเศษ โดยในเบื้องต้นจะมีการปรับมาตรฐาน และเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาลเนื่องจากที่ผ่านมาเราต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์เนื่องจากประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยการป้องกันอุบัติเหตุ ในส่วนของรถพยาบาลนั้นจะต้องติดตั้งสัญญาณไฟรอบรถ 6 จุด ติดแถบสะท้อนแสงรอบคัน ระบบเสียงสัญญาณฉุกเฉินจะต้องมีความดังถึงระดับ 85 เดซิเบล และที่สำคัญจะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตนเองในรถพยาบาล อาทิ กรวยสะท้อนแสง กระบองไฟจราจร อุปกรณ์ทุบกระจกและตัดสายรัดตรึง ถังดับเพลิง เป็นต้น ส่วนพนักงานขับรถพยาบาลจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐาน มีใบรับรองแพทย์การขับรถพยาบาล ผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถ นอกจากนี้จะมีการเสนอทบทวนเรื่องระยะทางในการขับรถของพนักงานขับรถด้วย เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องรับผิดชอบทั้งชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ในระยะยาวจะมีการติดตั้ง GPS ในรถพยาบาลทุกคัน เพื่อติดตามการออกปฏิบัติงานของรถพยาบาลที่ศูนย์สั่งการประจำจังหวัด ซึ่งการพัฒนาในส่วนนี้เราหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพและทำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยฉุกเฉินมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ” นพ.อนุชากล่าว
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า นอกจากการกำหนดมาตรฐานประจำรถพยาบาลแล้ว การขับขี่รถพยาบาลตามระเบียบยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดวามปลอดภัยด้วย โดยผู้ขับขี่รถพยาบาลจะต้องใช้ความเร็วในการขับขี่รถเมื่อต้องนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเท่านั้น แต่จะต้องไม่เร็วเกินอัตรากำหนด และเมื่อขับผ่านทางแยกจะต้องลดความเร็วและขับผ่านด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้เมื่อมีความจำเป็นต้องขับรถย้อนศรจะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนการจอดรถพยาบาลนั้นจะต้องเปิดไฟฉุกเฉินไว้ทุกดวง ต้องจอดในที่ปลอดภัยและวางกรวยจราจรเป็นระยะ และที่สำคัญบุคลากรที่ปฏิบัติงานจะต้องแต่งตัวด้วยชุดสะท้อนแสง ทั้งนี้การปรับมาตรฐานดังกล่าวจะต้องมีการจัดอบรมบุคลากรเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในอนาคตเราจะยกระดับมาตรฐานที่ทำให้เกิดการแข่งขันบริการ และทำมาตรฐานร่วมกันในระดับอาเซียนต่อไปด้วย
ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนางานวิชาการ งานมาตรฐาน การปฏิบัติการ และการฝึกอบรม ร่วมกัน จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาลแล้ว สพฉ.และรพ.ขอนแก่น จะร่วมกันริเริ่มพัฒนามาตรฐานในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างสถานพยาบาล มาตรฐานโรงพยาบาลต้นทางเพื่อการเตรียมความพร้อมและตอบสนองด้านสาธารณภัย มาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วย เป็นต้น ซึ่งเราหวังว่าการพัฒนาดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามนอกจากการบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ทางรพ.ขอนแก่น ได้จัดการประชุม 20 ปี ตามรอย EMS โรงพยาบาลขอนแก่น โดยมีประเด็นเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ ความคาดหวังของระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่นต่อการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย ทิศทางงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่น สถานการณ์ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ