กรุงเทพ--9 มี.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนประชาชนไม่ควรนำชุดทดสอบสำเร็จรูปมาใช้ตรวจหายาบ้าในปัสสาวะด้วยตนเอง เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการโดยที่ผู้ใช้ต้องมีความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ มิฉะนั้นอาจทำให้การอ่านผลการทดสอบคลาดเคลื่อน นอกจากนี้การใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ยังเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น หากจะทราบผลให้แน่ชัดว่า บุคคลผู้นั้นเสพยาเสพติดจริงหรือไม่ ต้องตรวจยืนยันโดยห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง จึงจะมั่นใจในผลการตรวจ 100%
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวการแพร่ระบาดของการใช้ยาเสพติดในหมู่ดารานักแสดง ทำให้หวั่นเกรงว่าเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จนหน่วยงานด้านปราบปรามยาเสพติดของรัฐมีนโยบายที่จะเข้าไปดำเนินการตรวจหายาบ้าในปัสสาวะของนักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นการป้องปราบและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างจริงจัง โดยได้มีการนำชุดตรวจสอบยาบ้าในปัสสาวะไปใช้ในการตรวจพิสูจน์เบื้องต้น เพื่อคัดแยกตัวอย่างปัสสาวะที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสารออกฤทธิ์ของยาบ้า คือ เมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีนผสมอยู่ ชุดทดสอบเบื้องต้นที่ใช้ในการตรวจหา ยาบ้าในปัสสาวะในขณะนี้ใช้หลักการอยู่ 2 วิธี คือ วิธีทางเคมี เช่น ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งถ้าหากปัสสาวะมีสารออกฤทธิ์ของยาบ้าผสมอยู่ก็จะทำปฏิกิริยากับน้ำยาตรวจสอบแล้วเปลี่ยนสีของน้ำยาจากสีเหลืองเป็นสีม่วงแดง และอีกชนิดหนึ่งเป็นชุดทดสอบที่ใช้หลักการภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunoassay) โดยดูแถบสีแดงที่เกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละบริษัท เช่น ถ้าปัสสาวะมียาบ้าจะเกิดสีแดง 1 แถบ ถ้าไม่มียาบ้าจะเกิดแถบสีชมพู 2 แถบ วิธีทดสอบไม่ยุ่งยาก โดยหยดปัสสาวะลงในหลุมทดสอบ และสังเกตแถบสีที่ปรากฏ ก็จะสามารถทราบได้ว่าปัสสาวะให้ผลบวกหรือลบ ซึ่งชุดทดสอบชนิดนี้มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศอยู่หลายยี่ห้อ สามารถตรวจหาสารออกฤทธิ์ในยาบ้าได้ในเวลาตั้งแต่ 3-30 นาที มีความถูกต้องประมาณ 90% ขึ้นไป อย่างไรก็ตามชุดทดสอบเหล่านี้มีข้อจำกัดในการแปลผล คือ ผลบวกที่ได้รับอาจเนื่องจากมีสารอื่นหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่รบกวนการทดสอบทำให้เกิดผลบวกลวงได้ เช่น ยาลดความอ้วน ยาแก้แพ้ และยาแก้หวัดบางชนิด เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุคคลทั่วไปจึงไม่ควรซื้อชุดทดสอบมาใช้ทดสอบกันเอง เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ผลิตขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการและคลินิกที่มีผู้มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการทดสอบ และทราบข้อระมัดระวังของการใช้ชุดทดสอบเท่านั้น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีความห่วงใยว่าบุตรหลานของท่านจะใช้ยาเสพติดหรือไม่นั้น ขอให้สังเกตุพฤติกรรมและการคบหาเพื่อนฝูง ถ้าหากมีปัญหาควรใช้ความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นในครอบครัวช่วยแก้ไขปัญหา และไม่ควรที่จะไปซื้อชุดทดสอบที่มีจำหน่ายมาใช้ตรวจสอบกันเอง เพราะการขาดความรู้ความชำนาญในการทดสอบอาจทำให้การแปลผลคลาดเคลื่อน ซึ่งถ้าหากเกิดผลทดสอบบวกลวง อาจมีผลกระทบต่อ จิตใจของบุตรหลานของท่านอย่างรุนแรง เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่อารมณ์ค่อนข้างจะอ่อนไหว จึงควรที่จะระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อมิให้เกิดความเสียใจในภายหลัง
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 591-0203-14 ต่อ 9017, 9081 โทรสาร 591-1707 มือถือ 01-904-7721 --จบ--