กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพกล่าวว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงอาคารที่คณะใช้ในการจัดการเรียนการสอน ให้มีสภาพที่ทันสมัย สวยงาม เป็นแหล่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะที่มีคุณค่า จึงจัดทำภาพวาดบนฝาผนังในบริเวณผนังชั้น 1 อาคาร B 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต โดยได้เชิญศิษย์เก่าคุณยุรี เกนสาคู มาเขียนภาพ โดยมีความตั้งใจว่า ภาพเขียนของศิษย์เก่าจะเป็นงานเขียนฝาผนังที่ประดับไว้ในระยะยาวที่จะส่งเสริมแรงบันดาลใจ การแสดงออก พร้อมสื่อสารให้รุ่นน้องศิษย์ปัจจุบันได้เข้าใจในคอนเซ็ปต์ของศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ที่เราได้เปิดกว้างให้คิดสร้างสรรค์ได้อย่างเสรี
“เราต้องการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสร้างให้สภาพของอาคารเก่ามีความงดงามน่าสนใจ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะอย่างสร้างสรรค์ โครงการ Graffiti Moral Project ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดของไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์สำหรับคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่เราจะตกแต่งไว้ภายในตึกเรียน โดยนอกจากเราจะทำเพื่อความสวยงามแล้ว เรายังมุ่งที่จะทำให้นักศึกษาได้มีแหล่งเรียนรู้ อย่างโครงการ Graffiti Murals Project ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่เรานำเนื้อหาที่มาจากการเรียนการสอนมานำเสนอใหม่ ผลงานนี้น่าจะเป็นผลงานหนึ่งที่จะดึงดูดให้นักศึกษาและคนทั่วไปได้เข้ามาชื่นชมและเรียนรู้ทั้งในเรื่องของการเรียนการสอนและวัฒนธรรม"
ด้าน ยุรี เกนสาคู ศิลปินอิสระคลื่นลูกใหม่แห่งวงการศิลปะร่วมสมัย และศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยถึงความรู้สึกว่าดีใจเป็นอย่างมากที่ได้กลับมายืนที่บ้านหลังที่สองแห่งนี้อีกครั้ง และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ถ่ายทอดฝีมือและแรงบันดาลใจที่ถูกสร้างสรรค์ไว้ให้เป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่น้องๆ จะต้องเดินผ่านและมองเห็น
"แรงบันดาลใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานลงบนฝาผนังอาคารเรียนครั้งนี้ มีที่มาจากสัตว์ต่างๆ ที่เป็นความชอบส่วนตัว รวมทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักนำมาผสมผสานค่ะ เนื่องจากเรามีธีม(Theme) หลักของการนำเสนอเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่ลวดลายและแนวทางของภาพก็ได้เลือกเป็นแบบที่ถนัดและน่าจะเข้าได้กับพื้นที่ตรงนี้ ก็คือ สไตล์ กราฟิตี้ ที่ใส่ลูกเล่นที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว มีทั้งการวาดแบบตามจินตนาการ และการวาดแบบมีเค้าโครงความจริง เพื่อให้น้องๆ เข้าใจถึงแก่นของความคิดสร้างสรรค์ ที่มีทั้งการอ้างอิงและการผสมสาน ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ปล่อยแรงบันดาลใจให้เขาได้เก็บเกี่ยวเพื่อนำมาอ้างอิง หรือ จัดวางหรือผสมผสานในแนวทางที่สร้างสรรค์ พร้อมกันนี้อีกทางหนึ่งเค้าก็จะมองเห็นได้ด้วยว่าภาพนี้ก็คือภาพของความร่วมมือทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องไปในตัว"
อนึ่ง ยุรี เกนสาคู (เกิด 2522) ศิลปินลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เคยมีผลงานศิลปะร่วมสมัยมาแล้วมากมายทางด้านการผสมผสานเทคนิค ลูกเล่น และสีสันผ่านผลงานภาพวาด ตลอดจนพัฒนาเป็นงาน 3 มิติ เคยเข้าร่วมการแสดงนิทรรศการกลุ่ม และเดี่ยว อาทิ เมื่อปี 2007 ศิลปินได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการ Artist in Residency ณ Yokohama Museum of Art และแสดงผลงานเดี่ยวในชื่อ The Adventure of Momotaro Girl และล่าสุดยังได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของศิลปินรุ่นใหม่ในเอเชีย ร่วมแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และนำไปแสดงต่อเนื่องที่ ไทเป ไต้หวันด้วย)ทั้งนี้หากใครสนใจอยากร่วมถ่ายภาพกับกราฟิตี้สุดแนว สามารถมาชมและถ่ายภาพกันได้ที่ อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต