กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--IR network
บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) สร้างเซอร์ไพรส์เอาใจผู้ถือหุ้น มอบโชคสองชั้นด้วยการอนุมัติจ่ายปันผลเป็นหุ้นอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล คิดเป็นอัตราการจ่ายหุ้นปันผล 0.333 บาทต่อหุ้น และจ่ายปันผลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.038 บาท รวมจ่ายหุ้นปันผลและเงินสดเท่ากับอัตราหุ้นละ 0.371 บาท กำหนดจ่ายวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ “สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” โชว์กำไรปี 56 โต 867.81 ล้านบาท ระบุต่อจากนี้มุ่งผลักดันผลงานทุกภาคส่วนให้ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้ารายได้รวมปี 57 โตไม่ต่ำกว่า 50%
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2557 มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลงวดปี 2556 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556) ให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล รวมจำนวน 220,000,000 บาท หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผล 0.333 บาทต่อหุ้น และจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.038 บาท คิดเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 25,080,000 บาท รวมเป็นการจ่ายปันผลทั้งในรูปแบบของหุ้นปันผลและเงินสดทั้งปี เท่ากับอัตราหุ้นละ 0.371 บาท
ทั้งนี้ได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 22 เมษายน 2557 และให้รวบรวมรายชื่อตาม ม.225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 23 เมษายน 2557 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) คือวันที่ 18 เมษายน 2557 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2557
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2556 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556) ของบริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 867.81 ล้านบาท เทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จจำนวน 768.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 99.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.95 โดยรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างลดลงเป็นจำนวน 681.39 ล้านบาท เทียบจากงวดเดียวกันกับปีก่อนที่มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างจำนวน 2,318.06 ล้านบาท เนื่องจากมีการเลื่อนลงนามสัญญารับเหมาก่อสร้างงานติดตั้งระบบไฟฟ้ารวมถึงการจัดหาอุปกรณ์จาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี (ชัยภูมิ) จำกัด และ บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี (นครราชสีมา) จำกัด ขณะที่รายได้จากการขายรวมลดลงอยู่ที่ 1,302.40 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,876.47 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายได้ส่งออกไปยังต่างประเทศ (สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์)
ด้านรายได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าลดลงอยู่ที่จำนวน 19.21 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 98.24 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนของ บริษัท จี-พาวเวอร์ ซอร์ซ จำกัด ร้อยละ 60 ให้บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน), บริษัท กันกุล ชูบุ พาวเวอร์เจน จำกัด ร้อยละ 49 ให้กับ บริษัท ชูบุ อีเล็คทริค เจ็ม บีวี ส่งผลให้การรับรู้รายได้ในส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนเป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนและบริษัทที่ควบคุมร่วมกันอยู่ที่จำนวน 150.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันกับปีก่อน (ปี 2555 แสดงจำนวน -48.67 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตามส่วนของรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่จำนวน 41.59 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่จำนวน 12.75 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้รับสัญญาว่าจ้างการดูแลและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วจากบริษัทร่วมและลูกค้าภายนอกเพิ่มขึ้น และในส่วนของต้นทุนจากการรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่จำนวน 613.95 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่จำนวน 1,755.41 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 65.03 ส่วนต้นทุนขายอยู่ที่จำนวน 952.05 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันกับปีก่อนอยู่ที่จำนวน 1,475.63 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 35.48 ซึ่งการลดลงของต้นทุนในการรับเหมาก่อสร้างและต้นทุนขายเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างและรายได้จากการขายที่ลดลง
"ผลงานปี 2556 ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนภาพรวมธุรกิจของ GUNKUL ในปีนี้ประเมินว่าน่าจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นผลักดันให้ผลการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ หรือ รายได้รวม ซึ่งตั้งเป้ารายได้รวมในปี 2557 นี้ จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% หรือ 3,000 ล้านบาท และต้อนรับการกลับมาของรายได้ส่งออกไปยังประเทศสหภาพเมียนม่าร์ ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งข่าวกับทางตลาดหลักทรัพย์แล้วประมาณ 500 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 60 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ ภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ผ่าน บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด (ถือสัดส่วนร้อยละ 70) ขนาด 60 เมกะวัตต์ และบริษัท กรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด (ถือสัดส่วน 100%) ขนาด 60 เมกะวัตต์ พร้อมกับตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างครบวงจรทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) เพื่อผลักดันธุรกิจของกลุ่มบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง" นายสมบูรณ์กล่าวในที่สุด