กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เวทีสช.เจาะประเด็น ผนึกกำลังองค์กรสื่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กสทช. นักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมตรวจสอบข่าวสาร โฆษณาและ CSR ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะ อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ทำลายสุขภาพ หวั่นกระแสเปิดทีวีดิจิตอล ส่งผลธุรกิจสื่อแข่งขันหารายได้ โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม ด้าน อย. จับมือ กสทช. เล็งเชิญพิธีกรรายการทีวี ทำความเข้าใจข้อกฎหมาย พร้อมกำชับสมาชิกทั้งทีวีดาวเทียม เคเบิล หนังสือพิมพ์ คุ้มครองประชาชนทุกด้าน
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็นหัวข้อ “สื่อยุคทีวีดิจิตอล สร้างสุขหรือทุกขภาวะ” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจสื่อสารมวลชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้ง สิ่งพิมพ์ วิทยุชุมชน โซเชียลมีเดีย เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และล่าสุดคือ "ทีวีดิจิตอล" อีก ๒๔ ช่อง ทำให้องค์กรที่มีบทบาท ในการกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชน จำเป็นต้องยกระดับการทำหน้าที่ภายใต้บริบทใหม่ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าทุกสื่อ ต้องเร่งรัดหารายได้จากการโฆษณาสินค้า อาจกลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการด้านสุขภาพ อาทิ ยา ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางค์ ใช้เป็นโอกาสในการสื่อสารการตลาด ด้วยวิธีโฆษณาสรรพคุณเกินความจริง ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสินค้าที่ทำลายสุขภาพ อาทิ เหล้า บุหรี่ ได้โฆษณาแฝงผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR) ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเช่นเดียวกัน
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ที่เริ่มมีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นทางการตามข้อบัญญัติของพระราชบัญยัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ พบว่า หลายระเบียบวาระมีสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดีหรือมอมเมาให้ไปในทางที่ผิดพลาด เช่น ในปี ๒๕๕๔ มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๔ เรื่อง "การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย" ที่ได้ให้ความสำคัญกับการขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ให้งดเว้นการเสนอภาพหรือเนื้อหา ที่ส่อถึงความรุนแรงและวิธีการฆ่าตัวตายทางสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และทางโทรทัศน์ มุ่งสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สร้างความรักความผูกพันในครอบครัว และมีการเชิดชูสื่อที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายในสังคมไทย และในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ วันที่ ๒๖-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ก็มีระเบียบวาระที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อกับสุขภาวะโดยตรงถึง ๒ เรื่อง ได้แก่ "แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑" และ "การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ท่าทีของวิชาชีพสื่อมวลชน จึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจส่งกระทบต่อสุขภาวะของผู้บริโภค
ด้าน ภญ.ศรีนวล กรกชกร อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการปัญหาการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เนต สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านสื่อทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ตลอดระยะเวลา ๓-๔ ปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการในเชิงรุก โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือ โดยเฉพาะสื่อมวลชน ด้วยการสร้าง "สื่อสีขาว" มุ่งเน้นคุณธรรมและจริยธรรม ทำหน้าที่เหมือนตะแกรงร่อนเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค
ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้เชิญพิธีกรที่มีการโฆษณาอาหารและยา ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงในรายการต่างๆ มาทำความเข้าใจในข้อกฎหมายควบคุมการโฆษณา ที่กำหนดให้สินค้าประเภท ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตก่อน ส่วนเครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายนั้น โฆษณาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องไม่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ในเบื้องต้นจะไม่มุ่งเน้นใช้บทลงโทษ แต่หากมีการกระทำผิด อย.จะประสานงานกับกสทช. อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาต่อใบอนุญาต หรือดำเนินคดีผู้ประกอบการ
"ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางมาตรการเชิงรุกเพื่อควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้สื่ออินเตอร์เนต ซึ่งคนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อาทิ เฟซบุ๊ค ประกอบกับการมี ทีวีดิจิตอล ที่กำลังเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งแต่ละช่องประมูลด้วยเงินลงทุนสูงมาก หากมองในเชิงธุรกิจ กลุ่มนี้ต้องหารายได้กลับมาจากการโฆษณา ประกอบกับมีการแข่งขันในสินค้าเหล่านี้สูง ดังนั้นปัญหาการโฆษณาผิดกฎหมายและเกินจริง จะมีมากขึ้นตามลำดับ"
ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม เลขานุการคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น การกำกับดูแลสื่อ และการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ ได้ใช้กลยุทธ์โฆษณาและสื่อสารการตลาดสินค้ายาสูบและแอลกอฮอล์ ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อกระตุ้นผู้บริโภค โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้สูบบุหรี่และดื่มสุราโดยตรง ผ่านทางเวปไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออินสตราแกรม ซึ่งเป็นช่องทางที่ยังไม่สามารถควบคุมได้
นอกจากนั้น ยังพบการโฆษณาแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้โฆษณาเชิงสร้างสรรค์สังคม จึงเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตและจำหน่าย หันมาทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR เพื่อสร้างพื้นที่ข่าวมากขึ้น อาทิ การให้เงินสนับสนุนองค์กรต่างๆ การกีฬา คอนเสิร์ต หรือการแจกผ้าห่ม ซึ่งถือเป็นการโฆษณาโดยตรง และยังสร้างเครดิตให้บริษัท โดยที่หน่วยงานภาครัฐยังตามไม่ทันอีกด้วย
การแก้ปัญหาต้องดำเนินการ ๒ ทางไปพร้อมกัน คือในส่วนของสื่อในฐานะที่เป็น "ผู้ส่งสาร" ต้องวางข้อบังคับจริยธรรมของวิชาชีพ เป็นกรอบในการกำกับดูแลการทำงาน เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ละเมิดจริยธรรมและไม่รับผิดชอบต่อสังคม
“บางครั้งสื่อ อาจไม่รู้เท่าทัน กลายเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการโดยง่าย จึงต้องหารือกับองค์กรวิชาชีพต่อไป ว่ามีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาเป็นกรอบกำกับดูแลการโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ขณะที่ผู้บริโภคซึ่งเป็น "ผู้รับสาร" ต้องรู้ว่ากำลังถูกละเมิดด้วยการโฆษณาหรือไม่ และหากจะร้องเรียนหรือฟ้องร้องต้องทำอย่างไร เพราะการดำเนินการทางกฎหมาย จำเป็นต้องมีเอกสารและหลักฐานต่างๆ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีแนวทางให้ความรู้แก่ผู้บริโภคด้วย
ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมฯมีแนวทางกำกับดูแลสมาชิกซึ่งมีจำนวนกว่า ๑๐๐ ช่อง โดยกำชับให้ตรวจสอบการโฆษณา โดยเฉพาะยารักษาโรค อาหาร หรือผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพอย่างเคร่งครัด หากเป็นสินค้าที่ไม่มีตรา “อย.” กำกับ จะไม่ให้มีการลงโฆษณาทางสถานีอย่างเด็ดขาด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด หากไม่ดำเนินการจะถูกขับจากสมาคมฯ โดยทางสมาคมฯได้ยึดถือหลักจริยธรรม ที่จะสร้างความเชื่อถือจากผู้ชมในระยะยาว มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจในระยะสั้น
"ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมมีด้วยกัน ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกคิดว่า ด้านได้ อายอด จึงต้องอาศัยการไล่ตามจับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ส่วนกลุ่มที่สอง ต้องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน สิ่งใดที่ทำแล้วได้รับความเชื่อถือหรือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาวก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ถ้าทีวีช่องใด ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แต่พบการโฆษณาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เราก็คงไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ เพราะไม่มีอำนาจ"
ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า แม้จะมีกรอบในการกำกับดูแลสมาชิก แต่ก็ยังพบปัญหาอื่นๆตามมา อาทิ ตรา “อย.” ของสินค้านั้น เป็นของจริงหรือปลอม และมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งสถานีไม่มีความรู้ และอำนาจที่จะตรวจสอบ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. ต้องดำเนินการ นอกจากนั้น ยังพบผู้ประกอบการใช้ดารามาโฆษณาสรรพคุณ หรือสอดแทรกการโฆษณา เข้าไปในเนื้อหาข่าวหรือรายการ ทั้งช่องฟรีทีวี และเคเบิลทีวี ถือเป็นพัฒนาการโฆษณาที่แนบเนียนมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะควบคุมได้อย่างแท้จริงก็คือผู้บริโภค ต้องรู้ช่องทางต่างๆในการร้องเรียน
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น จะแยกพื้นที่การโฆษณาซึ่งเป็นเรื่องทางธุรกิจ ให้ฝ่ายโฆษณาเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นคนละฝ่ายกับผู้ที่ดูแลเนื้อหารายการ แต่ปัจจุบันพบว่า ได้มีพัฒนาการของการโฆษณาเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อหาของสารคดี หรือโฆษณาแฝง อาทิ การวางโลโก้สินค้าไว้ตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ด้านหน้าผู้ประกาศข่าว หรือในเนื้อหาละคร เป็นต้น ในส่วนของธุรกิจสิ่งพิมพ์ พบว่า ปัจจุบันยังมีการละเลยที่จะระบุให้ชัดเจน ว่าเนื้อหาที่ลงนั้นเป็นพื้นที่โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ ดังนั้น การแก้ปัญหา จึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของฝ่ายผลิตเนื้อหาข่าว หรือรายการ ที่จะต้องวางกรอบจรรยาบรรณว่า โฆษณาแบบใดสามารถทำได้หรือทำไม่ได้อย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของธุรกิจมากำหนด บางครั้งสื่อก็ต้องการขายข่าวโดยลืมนึกไปถึงผลกระทบมุมกลับที่อาจเกิดกับสังคม เช่น กรณีการนำเสนอภาพข่าวความรุนแรงซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว หรือสถานการณ์บ้านเมือง จนทำให้ผู้รับสารซึมซับไปกับความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว หรือกรณีของฉากในละครหรือภาพข่าวการฆ่าตัวตาย ที่มีหลายกรณีที่เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบตามมา เหล่านี้สื่อคงต้องรมัดระวังและตระหนักเสมอว่า การสื่อสารทุกรูปแบบ ทุกเนื้อข่าวนั้นมีผลไม่เพียงการรับรู้แต่ยังอาจมีผลต่อความรู้สึก และจิตใจของผู้บริโภคด้วย
ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เชื่อว่า พลังของผู้บริโภค จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ โดยต้องปลุกให้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว หากเห็นการโฆษณาผิดกฎหมาย โฆษณาแฝง หรือโฆษณาที่เอารัดเอาเปรียบ ด้วยการสร้างจิตสำนึก สร้างองค์ความรู้ เท่าทันสื่อ และปลุกพลังการตรวจสอบออกมาให้สังคมได้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ต้องการถูกยัดเยียดโฆษณาที่ผิดกฎหมายและจริยธรรม พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหวร้องเรียนอย่างเป็นระบบ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งจะทำให้เกิดประเด็นข่าว และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในที่สุด