กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สามารถเทลคอม
ผู้นำด้านธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสารครบวงจร 3 รายใหญ่ของเมืองไทย สามารถเทลคอม ล็อกซเล่ย์ และเอไอที ผนึกกำลังตั้งบริษัทร่วมทุน ในนาม SLA Asia Company Limited พร้อมประกาศรุกธุรกิจด้านเทคโนโลยีรอบด้านในตลาด CLMV ประเดิมบุกประเทศเพื่อนบ้าน “พม่า” ซึ่งมีศักยภาพการขยายตัวสูงสุด ตั้งเป้ารายได้ 3 ปี 1,000 ล้านบาท
นับเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไอซีทีไทยสู่การยอมรับในระดับสากล ด้วยการประกาศร่วมทุนของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ไอซีทีไทย อันได้แก่ บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่นเซอร์วิส จำกัด หนึ่งในบริษัทลูกของ บมจ. สามารถเทลคอม , บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทย่อยของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ประกาศจัดตั้งบริษัทใหม่ ในนาม SLA Asia Company Limited เพื่อดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีไอซีทีครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 30 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่าๆกัน โดยแต่งตั้งให้นายสุรกิจ เกียรติธนากร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ภายใต้การผสานความรู้ความสามารถของทั้ง 3 องค์กรเข้าด้วยกัน SLA จึงนับเป็นบริษัทเทคโนโลยีไอซีทีของไทยที่แข็งแกร่งและมีความพร้อมสูงสุดในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ
เป้าหมายสอดคล้อง โอกาสทางธุรกิจเด่นชัด
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การร่วมทุนครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันของทั้ง 3 บริษัทในการขยายฐานธุรกิจสู่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เรามีความมั่นใจในศักยภาพการแข่งขัน เพราะนอกเหนือจากความรู้ความชำนาญที่ครอบคลุมทางด้านไอซีทีแล้ว ทั้ง 3 บริษัทยังมีความชำนาญเชิงลึกในงานโครงการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การวางระบบเครือข่ายการสื่อสาร การบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ การออกแบบติดตั้งระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย การให้บริการคอลล์เซ็นเตอร์เต็มรูปแบบ เป็นต้น อีกทั้ง ด้วยความเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันมาโดยตลอด ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการสร้างการยอมรับ ที่สำคัญ ในปัจจุบัน มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้เราขยายตลาดได้รวดเร็วขึ้น ”
นายเฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พม่าเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญซึ่งเรามุ่งเน้น เพราะมีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปประกอบธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีตัวเลขการค้าระหว่างไทยและพม่าในปีที่ผ่านมาสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้มีการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศพม่าอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กีปีมานี้ ดังนั้นการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม การบริการสื่อสารไร้สาย รวมถึงการให้บริการไอซีทีที่ครบวงจร ตั้งแต่การขายอุปกรณ์ การติดตั้งและวางระบบการสื่อสาร ตลอดจนการให้บริการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งเรามั่นใจในศักยภาพของบริษัท SLA ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแน่นอน.”
นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การรุกตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ของเรา โดยเฉพาะในกัมพูชา ซึ่ง AIT และ กลุ่มสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว จึงมั่นใจได้ด้วยประสบการณ์และรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีกับ Local partners ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขยายธุรกิจของ SLA
พร้อมรุกธุรกิจเต็มกำลัง ตั้งเป้า 3 ปี 1,000 ล้านบาท
นายสุรกิจ เกียรติธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) SLA Asia Company Limited เปิดเผยถึงเป้าหมายและแผนธุรกิจโดยสรุปว่า “เป้าหมายของ SLA คือเป็นบริษัทชั้นนำของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทางด้านการให้บริการไอซีทีโซลูชั่นส์คุณภาพสูง (Quality of Solutions) และตอบโจทย์ที่เฉพาะเจาะจงแก่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เรามองเห็นโอกาสในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรองรับเงินทุนที่ไหลเข้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราจึงวางเป้าหมายทางธุรกิจไว้ 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น (Local partners) เน้นการขายและติดตั้งวัสดุอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร พร้อมบริการหลังการขายแก่กลุ่มธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าว อาทิ ธุรกิจธนาคารและธุรกิจสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มบริษัทคนไทยก็คือเป้าหมายสำคัญ สำหรับแผนระยะยาว คือ การนำเสนอโครงการแก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในเบื้องต้น บริษัทกำลังศึกษาโครงการของกรมที่ดินในประเทศลาว และโครงการจัดทำบัตรประชาชน Smart ID Card ในประเทศพม่า
“ด้วยความร่วมมือของ 3 พันธมิตรที่แข็งแกร่ง ส่งผลใน SLA เริ่มต้นธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยมีจุดได้เปรียบในการแข่งขัน คือ ความน่าเชื่อถือจากผลงานที่ผ่านมา, ทีมงานที่มีเชี่ยวชาญ, ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก, ความมั่นคงทางการเงิน และความคล่องตัวในการดำเนินงานเชิงรุก ดังนั้น จึงมั่นใจว่า SLA จะสามารถบรรลุผลเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างแน่นอน โดยเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของประเทศเป้าหมายแล้ว บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า” นายสุรกิจ กล่าวสรุปในตอนท้าย