สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 17-21 ก.พ.57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 24-28 ก.พ. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 25, 2014 08:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 110.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 1.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 121.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 125.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corp.) ของลิเบียเปิดเผยว่าเหตุประท้วงระลอกใหม่ทางตอนใต้ของประเทศส่งผลให้ลิเบียผลิตน้ำมันดิบได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 230,000 บาร์เรลต่อวันจาก 567,000 บาร์เรลต่อวันในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าช่วงซึ่งยังไม่เกิดการประท้วงดังกล่าว แม้ล่าสุดกลุ่มผู้ประท้วงได้เปิดทางให้ท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง El Wafa (30,000 บาร์เรลต่อวัน) สู่ท่าส่งออก Mellitah แล้ว แต่ยังปิดท่อขนส่งจากแหล่ง El Sharara (340,000 บาร์เรลต่อวัน) สู่ท่าส่งออก Zawiya - กองทัพของรัฐบาลซูดานใต้และกองกำลังฝ่ายกบฎต่างตรึงกำลังอยู่ในเมือง Malakal (เมืองหลวงของรัฐ Upper Nile ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบหลักของประเทศ) หลังจากฝ่ายกบฎฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงที่ร่วมลงนามกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 57 ส่งผลให้ล่าสุดซูดานใต้ผลิตน้ำมันดิบลดลงประมาณ 30% จากช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 170,000 บาร์เรลต่อวัน - ชาวเวเนซุเอลากว่าหมื่นคนออกมาชุมนุมที่เมือง Caracas ด้วยความโกรธเกรี้ยว หลังผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นาย Leopoldo Lopez ถูกจับกุม ล่าสุดยังไม่มีรายงานว่าการผลิตน้ำมันดิบได้รับผลกระทบ แต่สร้างความกังวลในตลาดน้ำมันดิบ อนึ่ง เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน - Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.พ. 57 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ขึ้น 29,113 สัญญาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 393,248 สัญญา ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องด้วยราคาน้ำมันดิบ WTI ปัจจุบันยืนเหนือระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากภูมิอากาศที่หนาวเย็นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - สภาวะอากาศในสหรัฐฯ เริ่มคลายความหนาวเย็นลง ล่าสุดอุณหภูมิในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10 องศาเซลเซียสแล้ว ส่งผลให้การใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นมีแนวโน้มลดลงและนักลงทุนเริ่มเทขายสัญญาซื้อขาย Heating Oil ล่วงหน้า - การประชุมระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ. 57 มีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี ทั้งสองฝ่ายบรรลุประเด็นและกรอบการเจรจาสำหรับใช้ในการประชุมที่จะมีขึ้นต่อไปและนัดหมายการเจรจารอบใหม่วันที่ 17 มี.ค. 57 อีกทั้งยังกำหนดว่าจะสรุปข้อตกลงเกี่ยวกับการยุติโครงการนิวเคลียร์ในเดือน ก.ค. นี้ - Markit Economics ร่วมกับ HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น (Flash Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ของจีนเดือน ก.พ. 57 ลดลง 1.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 48.3 จุด เนื่องจากโรงงานหยุดช่วงตรุษจีนตอนต้นเดือน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ ได้แก่ ลิเบีย เวเนซุเอลา และซูดานใต้ โดยเฉพาะในลิเบียที่เหตุวุ่นวายลุกลามสู่กรุง Tripoli ซึ่งเป็นเมืองหลวง เกิดเหตุยิงต่อสู้กันระหว่างทหารกับฝ่ายต่อต้านหน้ารัฐสภาทำให้การประชุมต้องยุติ ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียล่าสุดวันอาทิตย์ที่ผ่านมาลดลงสู่ระดับ 230,000 บาร์เรลต่อวัน (เทียบกับในเดือน ก.ค. 56 ซึ่งการประท้วงยังไม่ลุกลามไปทั่วประเทศ ลิเบียผลิตน้ำมันดิบได้สูงถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้รัฐบาลประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้นจนชาติตะวันตกหวั่นเกรงว่าปัญหาในลิเบียจะปะทุรุนแรงขึ้นอีก อย่างไรก็ตามมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบจากสภาวะอากาศในสหรัฐฯ เริ่มคลายความหนาวเย็นลง ล่าสุดอุณหภูมิในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10 องศาเซลเซียสแล้ว ส่งผลให้การใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นมีแนวโน้มลดลงและนักลงทุนเริ่มเทขายสัญญาซื้อขาย Heating Oil ล่วงหน้า ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของชาติมหาอำนาจส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านมากขึ้นเพราะการชำระเงินและการจัดหาเรือขนส่งน้ำมันดิบสะดวกขึ้น โดยปริมาณการส่งออกของอิหร่านในเดือน ม.ค. 57 ไปจีน อยู่ที่ 565,000 บาร์เรลต่อวัน (+82% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ +11% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) และอินเดียอยู่ที่ 412,000 บาร์เรลต่อวัน (+44% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ +117% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ให้ติดตามการเปิดกว้างสู่ตลาดอุตสาหกรรมน้ำมันโลกของอิหร่านซึ่งมีกำหนดจัดงานสัมมนาด้านพลังงานที่กรุงเตหะรานวันที่ 12 มี.ค. นี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันจาก สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น เข้าร่วม สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้ กรอบความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ตามด้วย Dubai อยู่ในช่วง 107.9-112.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 100.5-103.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 104.1-108.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผันตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับราคาต้นทุนน้ำมันดิบ Dubai (Mogas Crack Spread) ปรับตัวลดลงจากปัจจัยลบที่เวียดนามได้นำเข้าน้ำมันเบนซินโดยการเข้าซื้อในตลาดจรสำหรับส่งมอบช่วงเดือน มี.ค. 57 เพียงพอต่อความต้องการแล้ว อีกทั้ง International Enterprise of Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 186,000 บาร์เรลเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 12.99 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหลังจากสัปดาห์ก่อนเพิ่งทำสถิติใหม่ สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118.6-122.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากซาอุดีอาระเบียยังคงเข้าซื้อเพื่อส่งน้ำมันช่วยเหลือประเทศอียิปต์ อีกทั้งอุปสงค์จากศรีลังกาและแอฟริกายังคงแข็งแกร่ง ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากโรงกลั่นในเกาหลีใต้และไต้หวันมีแผนปิดซ่อมบำรุงเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. 57 กอปรกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ที่สิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 57 ลดลง 1.15 ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.89 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.6-126.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ