กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ฟินันซ่า
นายสุรสีห์ จงไชโย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด (บลจ.ฟินันซ่า) เสนอกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน อัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 3.02% ต่อปี
บลจ.ฟินันซ่า ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี ในการประชุมครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มี.ค.57 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แม้ตัวเลขการส่งออกเดือน ธ.ค.56 ที่ผ่านมาจะขยายตัว 1.8% ต่อปี จากหดตัว 4.0% ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า แต่ตัวเลขการนำเข้าเดือน ธ.ค.56 ที่ผ่านมาหดตัว 9.9% ต่อปี โดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ และวัตถุดิบที่หดตัว 29.2% ต่อปี และ 19.1% ต่อปี ตามลำดับทำให้มุมมองต่อการส่งออกของไทยในอนาคตยังไม่ดีนัก ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงความล่าช้าในการจ่ายค่าจำนำข้าวจะกระทบต่อหนี้สินภาคครัวเรือนและกำลังซื้อของเกษตรกร ส่งผลให้มุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีแรกอาจยังไม่สดใสมากนัก และอีกสาเหตุที่เชื่อว่า กนง. อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แม้ว่าเดือน ม.ค.57 จะเร่งตัวขึ้นจากเดือน ธ.ค.56 มาอยู่ที่ระดับ 1.93% ต่อปี จาก 1.67% ต่อปี ดังนั้นการใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้
บลจ.ฟินันซ่า จึงออกเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อ กองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน7 (FAM FIPR3M7) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 3.02% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 24 ก.พ. - 3 มี.ค.57 โดยสินทรัพย์ในกองทุนบางส่วนจะลงทุนเป็นเงินฝากธนาคารต่างประเทศและในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade)
สำหรับกองทุนเปิดฟินันซ่า ตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน7 (FAM FIPR3M7) เป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง(BBB+), บมจ.บัตรกรุงไทย (BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บมจ.อีซี่บาย (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น