กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น
ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างเต็มขั้น ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีสภาพร่างกายที่ถดถอยเกิดการบาดเจ็บจากการหกล้มจนส่งผลให้เกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่ากลุ่มคนหนุ่มสาว รวมไปถึงโรคเรื้อรังและโรคแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากบุตรหลานหรือญาติพี่น้องอย่างใกล้ชิด ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาวที่จะพัฒนาระบบการดูแล รักษา ให้กับบุคคลกลุ่มนี้อย่างถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่เป็นเหตุให้เกิดการพิการถาวรหรือเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา วงการวิชาการทั้งด้านสุขภาพและด้านอื่นที่เกี่ยวข้องได้ค้นพบว่าสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและภายในสถานพยาบาลนั้นมีผลต่อการดูแล รักษา และฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บในกรณีต่างๆทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนหลักการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมว่าจะช่วยทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ด้วยเหตุนี้ บริษัท จาร์เค็น จำกัดนำโดยคุณชลธิษฐ์ ถนัดศิลปกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรม และคุณศศิวิมล สินธวณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรมภายใน ได้ร่วมมือกับนายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโครงการ “สถาปัตย์บำบัด (Architectural Therapy)” ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะรวบรวมเอาความรู้ทางด้านดูแลรักษาสุขภาพ นำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบบ้าน ภายใต้แนวคิดการออกแบบองค์รวมในการดูแล บำบัด และฟื้นฟูสภาพให้แก่ กลุ่มผู้ป่วยพักฟื้น กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการการฟื้นฟูสภาพ และกลุ่มผู้สูงอายุทั้งที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง หรือที่ยังพอช่วยเหลือตนเองได้
'เราเชื่อว่าการผสมผสานงานสถาปัตยกรรมภายนอก-ภายใน สามารถช่วยรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยของญาติผู้ใหญ่ของเรา รวมถึงคนดูแลรอบข้าง ให้มีแต่รอยยิ้ม มีความสุข มีอิสระตามที่ต้องการได้ในทุกๆวัน เรียกได้ว่าการทำโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี'คุณชลธิษฐ์กล่าว
สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ได้ที่ www.facebook.com/jarken.net และwww.facebook.com/pyedesign.netหรือติดต่อสอบถามผ่านทาง email:info@jarken.net