กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
ชาวบ้าน “ดงนา” ตั้งวงประชาคมขอน้ำ ไฟใช้ในหมู่บ้านเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ด้านป่าไม้เกรงไฟมาชาวบ้านตัดไม้บุกป่าเพิ่มขึ้น ชุมชนยันพร้อมสร้างความเชื่อมั่นดูแลป่าร่วมกับภาครัฐ
ชาวบ้าน“ดงนา” ตั้งวงประชาคมขอน้ำ ไฟ ในในหมู่บ้านเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นพร้อมดูแลป่าร่วมกับภาครัฐ ด้านผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติแนะมีความเป็นไปได้ ให้ชุมชนทำบันทึกข้อตกลงกำหนดกติการ่วมกันกับอุทยานแห่งชาติผาแต้มก่อนยื่นขอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 กศน.อำเภอศรีเมืองใหม่ร่วมกับชุมชนบ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จัดเวทีประชาคม “กระบวนการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” บริเวณพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม บ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ณ ศาลากลางบ้าน บ้านดงนา โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เช่น ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) นายอำเภอศรีเมืองใหม่ ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติผาแต้ม รองหัวหน้าสถานีเรือโขงเจียม หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยลุ่มน้ำโขง นายกอบต.หนามแท่ง ผู้นำชุมชน และชาวบ้านดงนา เป็นต้น
บ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านริมโขงที่ถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มในปี 2535 ทำให้เขตอุทยานฯทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งมีประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยมานานกว่า 100 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันชุมชนขาดไฟฟ้า น้ำประปา เพราะไม่สามารถยื่นขอในเขตอุทยานแห่งชาติได้ แม้ชุมชนจะมีแผงโซลาร์เซลล์ใช้ทุกครัวเรือนจากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะใช้กับหลอดไฟได้เพียง 1-2 หลอดเท่านั้น ทุกบ้านต้องสำรองเทียนหรือตะเกียงน้ำมันไว้ตลอดเวลา นอกจากนี้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอร์รี่ทุกปีเนื่องจากชำรุดเสียหาย หรือเก็บไฟไม่อยู่
นายวิศิษฎ์ นาสารีย์ ผอ.กศน.อำเภอศรีเมืองใหม่ กล่าวว่าการจัดเวทีประชาคมในวันนี้เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนได้พูดคุยถึงปัญหาและทางออก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีจำนวนจำกัด แต่ความต้องการของคนมีจำนวนมาก คิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ต้องผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันหลายๆภาคส่วน จึงเป็นเวทีประชาคมให้ทุกภาคส่วนได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกัน
นายพร้อม พิมพ์วงศ์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดงนากล่าวว่าเหตุที่หมู่บ้านไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้าใช้เนื่องจากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตนเองเชื่อมั่นว่าหมู่บ้านเราจะช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับภาครัฐได้แน่นอน แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาครัฐด้วย วันนี้ภาครัฐจึงอยากเห็นความพร้อมของพี่น้องประชาชน เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีความคาดหวังต่างกัน ชุมชนอยากได้ทรัพยากร ภาครัฐต้องการรักษา จะทำอย่างไรจะเดินไปด้วยกันได้ หากได้กฎกติกาที่ผ่านการพูดคุยประชาคมแล้วจะนำไปสู่โครงการขอไฟฟ้ามาใช้ในชุมชนต่อไป
นายชลชาติ เพ็ญภักตร์ ชาวบ้าน บ้านดงนากล่าวว่า ในปัจจุบันชาวบ้านดงนาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ น้ำที่ใช้เป็นน้ำจากฝายซึ่งปีนี้โชคดีที่ฝนตกในท้ายปี ในปีที่แล้วเดือนนี้ก็ขาดแคลนน้ำใช้แล้ว ส่วนไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ก็มีปริมาณไม่เพียงพอ ชีวิตถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีโอกาสได้ดูโทรทัศน์ ใช้พัดลม ตู้เย็น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น การประกอบอาชีพชาวบ้านจักตอกและทำปลาร้าไปแลกข้าวกับชุมชนอื่นก็ประสบปัญหาเพราะปีนี้ข้าวมีราคาแพงขึ้น ไม่มีใครอยากเอาข้าวมาแลกตอกข้าวและปลาร้า ส่วนเรื่องการหาปลาในแม่น้ำโขงก็หายากมากเมื่อเทียบกับอดีต หรือจะหันไปประกอบอาชีพอื่นในหมู่บ้าน เกือบทุกอาชีพล้วนต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าทั้งนั้น เมื่อไม่มีไฟฟ้าก็ส่งผลกระทบกับการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ด้วย
นายสมพงษ์ จันทร์จริง ชาวบ้านบ้านดงนากล่าวว่าหมู่บ้านดงนา ตั้งคำถามกับภาครัฐที่เข้าร่วมเวทีว่า บ้านดงนาทั้งหมู่บ้านมีที่ดินเพียง 412 ไร่ แต่ประชากรเพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งทุกคนมีความจำเป็นต้องประกอบอาชีพเลี้ยงปากท้อง จะหาทางออกอย่างไรเพื่อไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้น
นายสมัย อุบปาสี ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติผาแต้ม กล่าวว่าจากการสำรวจชุมชนดงนามีพื้นที่ทำกิน 141 ราย จำนวน 176 แปลง รวม 414 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา ที่ผ่านมามีการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความต้องการประกอบอาชีพของชาวบ้าน จึงอยากขอร้องชาวบ้านอย่าถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม เพราะเจ้าหน้าที่จะมาตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ยั่งยืนต้องขอความร่วมมือชาวบ้านให้เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล การจัดเวทีประชาคมในวันนี้ก็ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง
นายเดชา มีแยบ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวว่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 รับผิดชอบอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง วนอุทยาน 5 แห่ง สถิติคดีการลักลอบตัดไม้พะยูงในเดือนตุลาคม 2556 มีจำนวน 30 คดี เป็นไม้ 461 ท่อน เดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 27 คดี เป็นไม้ 236 ท่อน และเดือนธันวาคม 2556 มีจำนวน 49 คดี เป็นไม้ 819 ท่อน ซึ่งนับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม้พะยูงมีราคาแพ บางชุมชนชาวบ้านเข้าป่าหาไม้พะยูงทั้งชุมชน แม้จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่เดินตรวจอย่างเข้มงวดก็ไม่ทั่วถึง ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะชุมชนในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
นายธานนท์ โสภิตชา ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวว่ามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติปี 2535 ซึ่งกำหนดให้บ้านดงนาเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเนื่องจากต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเงื่อนไขคือผ่อนปรนให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ตามปกติ แต่ห้ามบุกรุกป่าเพิ่ม ห้ามซื้อขายที่ดินให้คนภายนอก และห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ในที่ดินทำกิน เป็นต้น
ส่วนเรื่องการขอน้ำประปา ไฟฟ้าในเขตพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีความเป็นไปได้ขอให้ทำรายงานการประชุมหรือบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนและอุทยานแห่งชาติผาแต้มว่าจะมีกฎกติกาการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันได้อย่างไร ก่อนนำไปยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานงานให้การไฟฟ้ามาออกแบบว่าจะมีรูปแบบการนำไฟเข้าไปในชุมชนอย่างไร เช่น เดินสายปักเสาผ่านเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือนำสายลงผ่านท่อใต้ดิน แต่ทางอุทยานแห่งชาติฯไม่อยากให้มีการตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
“นอกจากนี้ยังมีชุมชนบางแห่งที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ เมื่อมีไฟฟ้าใช้แล้ว พบว่ามีการทำลายทรัพยากรธรรมขาติมากขึ้น เช่น ใช้เลื่อยไฟฟ้าตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ ชุมชนดงนาก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับภาครัฐ”
นายชูชาติ สมสวย นายอำเภอศรีเมืองใหม่ กล่าวถึงทางออกว่าการมีที่ดินน้อยก็สามารถสร้างมูลค่าให้มีรายได้เพิ่มได้ เช่น อาจปลูกเห็ดแทนการทำไร่ทำนา การทำสินค้าโอทอปเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยวตามลำน้ำโขง ท่องเที่ยงเชิงพุทธตามรอยหลวงปู่พรมมา หรืออาจปลูกไม้ไผ่ ไม้พะยูงเพื่อขายในอนาคต เป็นต้น ส่วนเรื่องการขอไฟฟ้าให้ชุมชนยกร่างบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีกฎกติกาในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับภาครัฐอย่างไร แล้วจัดเวทีประชาคมรับรองอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะไปยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป