กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ด้วยโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. (Entrepreneurship Development Program : EDP) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs รายเดิมให้มีความรู้ มีทักษะในการประกอบการ สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบและบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งแก้ปัญหาผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกิจการอยู่แล้ว แต่ต้องการความรู้เพิ่มเติมเพื่อการขยายกิจการ โดยเฉพาะความรู้เรื่อง AEC ที่เพิ่มเนื้อหาให้เข้มข้น มากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ประกอบการร้อยละ 48.14 จาก 2.7 ล้านราย ยังขาดความเข้าใจว่าธุรกิจของตนมีโอกาสหรือต้องเริ่มต้นลงทุนอย่างไรใน AEC ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะฝึกอบรมใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การเสริมสร้างลักษณะของผู้ประกอบการที่มีความสามารถและมีธรรมาภิบาล 2. การบริหารธุรกิจยุคใหม่ 3. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน และ 4. ความรู้เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ โดยคาดว่าในปี 2557 จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อีกกว่า 450 ราย และสามารถสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการ คพอ.ทุกราย ยังสามารถเป็นสมาชิกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ที่มีสมาชิกกว่า 8,700 รายทั่วประเทศ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กสอ. ยังเผยข้อมูลอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองเนื่องจากมีการค้าชายแดนที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะและอโลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มีจำนวนสถานประกอบการกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งคาดว่าปีนี้มีแนวโน้มภาพรวมจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV อย่างไรก็ดี กสอ. ตั้งเป้าให้ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ครบครันและสมบูรณ์แบบที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างจุดขายให้กับสินค้าอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิกที่มีคุณภาพดีที่สุดในอาเซียน ด้วยเหตุนี้ จึงควรเร่งในการพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินธุรกิจ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ได้จัดงานมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร รวมกว่า 100 ราย ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4564 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้แข่งขันได้เมื่อเข้าสู่ AEC นอกจากจะต้องมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการลงทุน สาธารณูปโภคพื้นฐาน เทคโนโลยี และเงินทุนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเตรียมความพร้อมด้าน “ผู้ประกอบการ” หรือ “บุคลากร” ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2556 ถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 พบว่าผู้ประกอบการ SMEs มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการร้อยละ 48.14 ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าใจว่าธุรกิจของตนมีโอกาส หรือ ต้องเริ่มต้นลงทุนอย่างไรใน AEC (ที่มา : ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. (Entrepreneurship Development Program : EDP) ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายเดิมให้เข้าใจหลักการการจัดการ การวางแผน และรู้จักคิดวิเคราะห์ก่อนการลงทุน รวมทั้งพัฒนาวิสัยทัศน์ และแนวคิดของผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยได้ดำเนินโครงการ ฯ ดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 33 ปี เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC จึงได้เพิ่มหลักสูตรให้มีความเข้มข้นมากขึ้น รองรับกับการเข้าสู่ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ผ่านกระบวนการ “เรียนดี เรียนลัด” โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว และต้องการลงทุนเพื่อขยายกิจการผ่านการบูรณาการด้วย 4 หลักสูตร เข้าด้วยกัน เพื่อเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการให้มีความ “เก่ง และ ดี” ได้แก่
- การเสริมสร้างลักษณะของผู้ประกอบการที่มีความสามารถและมีธรรมาภิบาล มุ่งปลูกฝังคุณลักษณะของผู้ประกอบการให้เก่งและดี ผ่านรูปแบบกิจกรรมเสริมสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธ์ ในการประกอบการเป็นการสร้างพลังปรารถนาความสำเร็จให้เกิดในตัวผู้ประกอบการ ด้วยการนำเอาหลักจิตวิทยาและกิจกรรมในเชิงธุรกิจมาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมการทำงาน
- การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ มุ่งพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการให้มีความรู้ในด้านการจัดการสมัยใหม่ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในกิจการของผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสม โดยมีการให้ความรู้เชิงลึก ในด้านหลักการจัดการและการจัดการบุคคล การบริหารจัดการด้านการตลาด การบริหาร การดำเนินการผลิตและการบริการ การบัญชีและการเงิน และการเจรจาต่อรอง เพื่อที่จะนำเอาความรู้ในด้านต่าง ๆ มาเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมทั้งการให้ความรู้ในการใช้ฐานการผลิตร่วมกันใน AEC ด้วย
- การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทราบถึงวิธีวิเคราะห์โครงการก่อนการลงทุน หรือขยายกิจการว่าได้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเน้นในการทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC รวมทั้งการให้คำปรึกษาในด้านการจัดทำแผนธุรกิจการเขียนแผนธุรกิจ และการเตรียมการนำเสนอ รวมถึงการวิจารณ์แผนธุรกิจ โดยจะมีวิทยากรคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ
- ความรู้เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ เน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับทราบถึงบริการความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ การปฏิบัติตามกฎหมายภาษี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดตั้งธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการฝึกอบรม จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ วันละ 5 - 7 ชั่วโมง ด้วยรูปแบบการบรรยายพร้อมยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหา การศึกษาดูงาน และทำกิจกรรมนอกสถานที่ร่วมกัน จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งบุคคลในวงการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม” (คพอ.) พัฒนาผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 273 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมเป็นสมาชิกแล้วกว่า 8,700 รายทั่วประเทศ โดยในปี 2555 มีผู้เข้าโครงการจำนวน 338 ราย ทำให้สามารถขยายการลงทุน 64 ราย มียอดขายเพิ่มขึ้น 1,961.17 ล้านบาท/ปี คิดเป็นยอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อราย 10.9 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 รายต่อกิจการ มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 1,193.37 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนรวมได้กว่า 23.91 ล้านบาท ส่วนในปี 2556 มีผู้ประกอบการผ่านการอบรมไปแล้ว 538 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บผลลัพท์ ขณะที่ปี 2557 ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการอีกกว่า 450 ราย คาดว่ามีการขยายการลงทุนกว่า 100 ราย และมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี
นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดอาเซียน อาเซียน+3 และอาเซียน+6 ที่ประกอบด้วยประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กสอ.ได้เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะช่วยเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการในการเข้าสู่ AEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงฐานทรัพยากร โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมโลหะและอโลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่จับตามองโดยช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของ ปี 2556 ภาคเหนือ มีมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมทุกประเภทกว่า 3 หมื่นล้านบาท อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2553 – 2555 ทั้งนี้ ในเขตภาคเหนือมีการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทใหม่ ๆ มากขึ้นและเป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ฯลฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งมีจำนวนสถานประกอบการก่อสร้างกว่า 3,000 แห่ง จากทั่วประเทศประมาณ 25,000 ราย โดยในปีนี้ มีแนวโน้มภาพรวมจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึง ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย ที่มีการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสุขภัณฑ์และกระเบื้องเซรามิก อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ครบครันและสมบูรณ์แบบที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างจุดขายให้กับสินค้าอุตสาหกรรม การก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะกระเบื้องเซรามิกให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิกที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกกระเบื้องปูพื้น และผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ๆ รวมกว่า 11,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว ปี 2556 ประมาณร้อยละ 3.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 (ที่มา : สำนักงานสถิติเเห่งชาติ)
ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 8,700 ราย ทั่วประเทศ ซึ่งสมาชิกของสมาคม คือ ผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ กับ คพอ. ทุกราย สำหรับจุดเด่น ของ คพอ. สมาคม ฯ มองว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงตั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบันเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ทำให้มีความผูกพันและจริงใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับบทบาทของสมาคม ฯ คือ การประสานนโยบายและดำเนินการส่งเสริมวิสาหกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือให้สมาชิกสามารถพัฒนาและขยายธุรกิจให้ก้าวหน้าได้ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ประเภทต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสมาคม ฯ ที่ว่า “SMEs ไทย องค์กรเข้มแข็ง ธุรกิจยั่งยืน” สำหรับการเตรียมพร้อมของสมาชิกในการเข้าสู่ AEC สมาคม ฯ ให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองหาการลดต้นทุน แต่ก็ทำได้ยากเนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าเพื่อให้สินค้าขายได้ราคามากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน เนื่องจากต้นทุนการขนส่งต่ำ เป็นแหล่งระบายสินค้าที่ล้นตลาดภายในประเทศ และยังเป็นช่องทางในการหาวัตถุดิบที่มีราคาถูก ซึ่งเป็นการลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญควรมองหาตลาดใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายอธิวัฒน์ ราษฎร์นิยม กรรมการผู้จัดการ บริษัท โยนก 2006 จำกัด จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกตัวแทนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการ คพอ. กล่าวว่า โรงงานเป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิก มากว่า 5 ปี โดยปัจจุบันมีตลาดในประเทศเป็นตลาดหลัก ร้อยละ 70 และส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย ประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้ สินค้าในบริษัทสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ กระเบื้อง ดินเผา กระเบื้องเคลือบแก้ว กระเบื้องสระว่ายน้ำ เรือบก พีรามิด ขอบสระ เคาน์เตอร์ จมูกบันได กระเบื้องหลังคาโบราณ และเกร็ดพญานาค โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง คือ กระเบื้องเคลือบแก้ว เฉพาะตลาดในประเทศมียอดสั่งซื้อต่อปีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะสั่งทำแบบผลิตตามยอดการสั่งซื้อ (Made to Order)
สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิกในภาคเหนือส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ ให้ภาคเหนือเป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค ซึ่งคาดว่าตลาดเซรามิกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเข้าร่วมโครงการกับ กสอ. นั้นทางโรงงานได้เข้าร่วมโครงการ คพอ. ตั้งแต่ ปี 2549 ซึ่งทางบริษัทได้รับความรู้ในการประกอบธุรกิจอย่างเจาะลึกทั้งในด้านการตลาด การเงิน การบัญชี ภาษี การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ โดยช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนการเงิน และสามารถขอกู้เงินเพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจจากสถาบันการเงินชั้นนำได้ รวมทั้งยังสามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และ ที่สำคัญคือการให้ความช่วยเหลือด้านการเจรจาเปิดตลาดการค้าในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในปี 2557 ทางบริษัทได้มีแผนที่จะเปิดตลาดในอาเซียนเพิ่มเติม โดยการแตกไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกให้สามารถตอบโจทย์ตลาดที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกของบริษัทได้กว่าร้อยละ 8 - 12
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ กสอ. ได้จัดกิจกรรมมอบเกียรติบัตรให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ถึง มกราคม 2557 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 271 จังหวัดเชียงใหม่ รุ่นที่ 272 จังหวัดนครสวรรค์ และรุ่นที่ 273 กำแพงเพชร จำนวน 54, 24 และ 35 คน ตามลำดับ ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก