กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กนอ. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม (ID Net) สร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม บริษัทภาคีต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วม มากกว่า 40 บริษัท ในการขายธุรกิจเศรษฐกิจของประเทศ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม (Industrial Cooperation Development Network : ID Net) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบัน / หน่วยงาน ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินกิจกรรมด้านธุรกิจการค้า และอุตสาหกรรม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของ กนอ. ในฐานะหน่วยงานที่ผลักดันให้เกิดเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มศักยภาพเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และการดำเนินงานทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุน เอื้ออำนวยการดำเนินภารกิจของ กนอ. ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยขยายเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มเป้าหมายของ กนอ.
กนอ. ได้มีการขยายเครือข่ายสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม โดยมีการเชิญชวนกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมเป็นพันธมิตรโครงการ ID Net ได้แก่ กลุ่มรัฐวิสาหกิจ กลุ่มเขต / สวนอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง / บริษัทที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม / การให้บริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงิน / ประกันภัย กลุ่มที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินกิจกรรมด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจให้เหนือกว่าความคาดหวังด้วยการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร ID Net ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์จากภาคเอกชน และสร้างโอกาสทางการลงทุนอีกด้วย
ซึ่งจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ (26 ก.พ. 2557) มีบริษัทฯ สนใจเข้าร่วม และรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินโครงการฯ ID Net เป็นอย่างดี โดย กนอ. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายธุรกิจ ในกลุ่มอุตสาหกรรมและการบริการในสาขาต่างๆ มากกว่า 40 บริษัท โดยมีเป้าหมายการเชื่อมโยงทางธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากพันธมิตรธุรกิจ คู่ค้า และภาคส่วนต่างๆ ไปสู่การสนับสนุนการดำเนินภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ ให้เป็นรูปธรรม โดยสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพื่อสอดรับกับทิศทาง และกรอบความร่วมมือการพัฒนาในระดับภูมิภาคอาเซียน และการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการจัดตั้งบริษัทฯ ให้เป็นรูปธรรม Holding Company เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ / ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ อีกทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศที่เป็นรูปธรรม และยั่งยืน นายวีรพงศ์ กล่าวสรุป