สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 24-28 ก.พ.57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 3-7 มี.ค.57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 4, 2014 08:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 121.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 124.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - จากผลการสำรวจบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นของจีน จำนวน 945 บริษัท มีหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 260% จาก 1.82 ล้านล้านหยวน (2.98 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มาอยู่ที่ 4.74 ล้านล้านหยวน (7.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในระหว่างช่วง ธ.ค. 51-ก.ย. 56 หนี้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทขนาดกลางและใหญ่ในจีนสูงขึ้นเหนือความคาดหมายและปัญหาของการชำระหนี้อาจก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้และการปรับโครงสร้างประเทศต่อเนื่อง - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ปรับแก้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในรายงานครั้งที่ 2 ของไตรมาสที่ 4/56 โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ +2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 55 จากการรายงานเบื้องต้น (Preliminary) ที่ +3.2% เมื่อเทียบกับปี 55 ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 56 อยู่ที่ +1.9% จากปี 55 ทั้งนี้ ยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือนถูกปรับแก้ลงมากสุด มาอยู่ที่ +2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 55 จากเดิม +3.3% เมื่อเทียบกับปี 55 - EIA รายงานโลกมีกำลังการผลิตน้ำมันส่วนเหลือ (Spare Capacity) เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวันจากช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 56 มาอยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 57 - EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ในปี 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปี 55 มาอยู่ที่ 7.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการผลิตสูงสุดในรอบ 25 ปี - Reuters รายงานอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยส่งออกในเดือน ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจีนและซีเรียเป็นประเทศที่จัดซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - บริษัท Shell Nigeria ปิดดำเนินการท่อขนส่ง Nembe Creek (150,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 57 เพื่อซ่อมแซมหลังท่อขนส่งดังกล่าวถูกโจมตีเพื่อโจรกรรมน้ำมัน - ตลาดคาดการณ์ว่านางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจยืนยันคงการซื้อพันธบัตรด้วยวงเงิน 6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน หลังนางเยลเลนแถลงต่อหน้าคณะกรรมการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวจากสภาพอากาศที่เลวร้ายอาจนำไปสู่การพิจารณาทบทวนนโยบายในการลดวงเงินอัดฉีดตามมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณทางการเงิน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังเมื่อสัปดาห์ก่อนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์ ส่วนราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง 0.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ปัจจัยพื้นฐานในเชิงบวกจากเหตุความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอย่างลิเบียหรือซูดานใต้เริ่มอ่อนแรงและไม่อาจต้านทานปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจที่เด่นชัด นำมาซึ่งความวิตกกังวลของนักลงทุนในตลาด โดยเฉพาะเงินหยวนจีนเฉลี่ยรายสัปดาห์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติอ่อนค่าลงรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ ผนวกกับสถานะล่าสุดของบริษัทในจีน ณ สิ้นปี 56 ทำสถิติหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (มูลค่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ - เกิน 120% ของ GDP) รวมไปถึงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในยูเครน ซึ่งการก้าวเข้ามาแทรกแซงของชาติมหาอำนาจอาจส่งผลบานปลายจนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ตลอดจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดมีการปรับแก้ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4/56 ต่ำลงจากการรายงานเบื้องต้น ในสัปดาห์นี้ให้จับตาการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ในเดือน ก.พ. 57 ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยูโรโซน ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาด สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้ กรอบความเคลื่อนไหวของ WTI และ Brent รวมไปถึง Dubai อยู่ที่100-106.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 108-111.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 103.5-107.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผันตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น พร้อมกันนั้น ส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับราคาต้นทุนน้ำมันดิบ Dubai (Mogas Crack Spread) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตลาดได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มทยอยปิดซ่อมบำรุง ซึ่งจะทำให้การส่งออกมายังเอเชียและยุโรปลดลง แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจาก International Enterprise of Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.25 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.9-123.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเนื่องจากตลาดมองว่าอุปทานอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ในเดือน ก.พ. 57 (ถึงวันที่ 26) อยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรล สูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลในเดือน ม.ค. 57 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเชื่อว่าราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในตะวันออกกลางที่ค่อนข้างสูง ผนวกกับในระยะนี้โรงกลั่นในเอเชียและตะวันออกเริ่มปิดซ่อมบำรุงรวมถึงลดอัตราการกลั่นลง สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.2-125.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ