สภา กทม. เห็นชอบโครงการรถรางเลียบคลอง สายพระราม 3

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 1998 13:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 ม.ค.--กทม.
วานนี้ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภาฯ สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 1 ครั้งที่ 3 ซึ่งการประชุมในวันนี้ ฝ่ายบริหารได้เสนอญัตติ ขอความเห็นชอบโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายพระราม 3
ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับพื้นผิวการจราจรที่มีอยู่ แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) จะได้จัดทำแผนแม่บทของระบบขนส่งมวลชนหลัก ซึ่งประกอบด้วย ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (สายสีเขียว) ระบบขนส่งมวลชนและทางยกระดับของการรถไฟแห่งประเทศไทย (สายสีแดง) และระบบขนส่งมวลชนขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีน้ำเงิน สายสีส้ม และสายสีม่วง) ไว้แล้วก็ตาม แต่การใช้ระบบขนส่งมวลชนหลักที่มีความจุผู้โดยสารได้มากถึง 60,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง จะไม่เป็นการประหยัดหากจะใช้บริการในพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปจากย่านกลางเมือง จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) เพื่อต่อเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนหลักและขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนขนาดรองเดินทางมาต่อรถของระบบหลักได้ กทม. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายพระราม 3 จะช่วยเสริมโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครที่กำลังดำเนินการอยู่ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2540-2544) ผนการจราจร การขนส่ง และสาธารณูปโภค แผนงานที่ 2 แผนงานพัฒนาระบบจราาจรและการขนส่ง
ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า จากเหตุผลดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาเลียบคลองของกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยแนวคลองสายสำคัญเป็นเส้นทางหลัก ประกอบด้วยแนวเส้นทาง 5 เส้นทาง คือ สายเลียบคลองภาษีเจริญ สายคลองแสนแสบ สายคลองเปรมประชากร สายคลองประปา และสายคลองช่องนนทรี-พระราม 3 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงกรดังกล่าว และให้กรุงเทพมหานครดำเนินการโครงการต่อไป ในการนี้กรุงเทพมหานครได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ปรากฏว่าเส้นทางสายคลองช่องนนทรี-พระราม 3 มีอุปสรรคการก่อสร้างน้อย และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจย่ายพระราม 3 ให้เป็นศูนย์ธุรกิจและการเงินที่สำคัญ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายพระราม 3 ขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งโครงการนี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ได้พิจารณา และมีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2540 มอบให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของโครงการ สาระสำคัญของโครงการ คือ จะสร้างเป็นทางระบบขนส่งมวลชนยกระดับตลอดสายเริ่มต้นที่สถานีของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครที่บริเวณคลองช่องนนทรี ช่วงระหว่างถนนสาธร และถนนสีลม เส้นทางจะวางตัวแนบชิดไปกับเขื่อนริมคลองช่องนนทรี มุ่งหน้าไปทางใต้ตามแนวถนนนราธิวาสรชนครินทร์ (ถนนเลียบคลองช่องนนทรี) จนไปบรรจบถนนพระราม 3 แนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาโดยแนบชิดไปกับเขื่อนริมคลองพระราม 3 ตามแนวถนนพระรามที่ 3 ไปสิ้นสุดที่บริเวณใกล้สะพานกรุงเทพ มีระยะทาง ยาวประมาณ 12.5 ก.ม. ค่าลงทุนโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งโครงการพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนจะมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,400 ล้านบาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 40บาท/ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา) รูปแบบการลงทุนของโครงการจะดำเนินการในรูปแบบ BOT (Build, Transfer and Operate) เช่นเดียวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร โดยให้เอกชนทำการก่อสร้างงานด้านโยธา พร้อมจัดหาระบบ และระบบเครื่องกลไฟฟ้าที่จำเป็น ตลอดจนการดำเนินงานและซ่อมบำรุงโครงการภายใต้ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี กำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปลายปี พ.ศ. 2543 ใกล้เคียงกับระยะการเริ่มให้บริการของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (สายสีเขียว) และขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังนำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
สำหรับบัญญัติดังกล่าว สมาชิกสภา กทม. ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และได้ซักถามฝ่ายบริหารเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ อาทิ โครงการดังกล่าวมีการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร แนวโน้มผู้สนใจลงทุน รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน และได้จัดทำประชาพิจารณ์หรือไม่ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ชี้แจงว่า ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว กทม. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาทั้งระหว่างการก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งรายงานทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและให้ความเห็นชอบ ส่วนแนวโน้มผู้สนใจลงทุน ขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงล้ว จำนวน 16 กลุ่ม อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในปัจุบันยังมีความไม่แน่นอน ทำให้เอกชนที่จะมาลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้นรูปบบการลงทุนอาจเป็นไปได้ว่า กทม. อาจจะมีส่วนร่วมในการลงทุนบ้าาง เพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งรายละเอียดจะได้มีการหารือกันต่อไป สำหรับเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายพระราม 3 ไม่มีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง จึงไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าวส่วนเรื่องการทำประชาพิจารณ์ กทม. ต้องดำเนินการอย่างแน่นอน
นอกจากนี้สมาชิกสภา กทม. ยังได้เสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็นกับฝ่ายบริหารด้วยว่า ในสัญญาณของโครงการดังกล่าวควรมีมาตรที่จะให้บริษัทอื่นเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ได้ทันทีหากผู้รับเหมาทิ้งงานเพื่อไม่ให้โครงการเกิดความเสียหาย รวมทั้งรูปแบบของโครงการควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการด้วย และหลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้น ได้มีการลงมติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายพระราม 3--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ