แปรรูปอาหารจากแมลงแหล่งโปรตีนสำรอง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 4, 2014 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่นจับมือเกษตรจังหวัดมหาสารคามชูแมลงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำรองทางเลือกของมนุษย์ ลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร พร้อมสอนวิธีแปรรูปอาหารจากแมลง หวังกระตุ้นให้มีผู้สนใจบริโภคแมลงมากขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมพิรุณ ๒ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในการถ่ายทอดความรู้การแปรรูปอาหารจากแมลง ภายใต้ความร่วมมือมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์ประจำสาขาวิชากีฏวิทยา ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ขององค์กร อาหารเพื่อการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยได้มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหาร ทำให้แมลงกินได้ของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก ขณะนี้ประชากรโลกมีประมาณ 7 พันล้านคน อีกประมาณ 30-40 ปี ข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9 พันล้านคน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาคือ ในอนาคตพืชอาหารอื่นๆ จะไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงอาหารโปรตีน แมลงเป็นแหล่งโปรตีนที่ราคาถูกและใช้พื้นที่น้อยในการผลิต ขณะเดียวกันก็ผลิตได้ในปริมาณมาก ขณะที่สัตว์อื่นๆซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีน ไม่สามารถที่จะผลิตให้เพียงพอต่อผู้บริโภคในอนาคตได้ ด้วยมีพื้นที่ในการผลิตจำกัด ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้แมลงจึงเป็นแหล่งโปรตีนอาหารสำรองอีกทางเลือกหนึ่ง การที่จะให้ประชาการโลกหันมาบริโภคแมลงเป็นอาหาร จึงต้องให้ความสำคัญมาตรฐานอาหารจากแมลงโดยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรู้จักวิธีการแปรรูปอาหารจากแมลง ซึ่งครั้งนี้ได้ถ่ายทอดความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติให้สามารถนำไปขยายผลต่อได้ ในการทำขนมคุกกี้ ข้าวเกรียบ และน้ำพริกจากจิ้งหรีด ให้กับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เฉพาะที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านมะค่า ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย มีสมาชิกและเครือข่ายกว่า 280 ครอบครัวยึดอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดและแมงสะดิ้ง มีผลผลิตออกสู่ตลาดวันละประมาณ 2,000-3,000 กิโลกรัม ทำรายได้เข้าหมู่บ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 60-70 ล้านบาท โดยแต่ละปีจะสามารถเลี้ยงได้ 4-5 รุ่น แต่ละรุ่นก็สร้างรายได้ถึง 16 ล้านบาท เกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงจิ้งหรีด หรือการแปรรูปอาหารจากจิ้งหรีด ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ