กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
บทสนทนาในเอเชียแปซิฟิกต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับประสบการณ์การทำธุรกรรมและการมีส่วนร่วมของร้านค้า
มาสเตอร์การ์ด และ Prime Research เปิดตัวผลวิจัยระดับโลกของมาสเตอร์การ์ดประจำปีเกี่ยวกับการชำระเงินด้วยมือถือ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยได้มีการติดตามสำรวจความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค บล็อกและฟอรั่มออนไลน์ทั่วโลก
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลวิจัยพบว่าร้านค้าเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนาต่างๆ แม้มีร้านค้าเพียงร้อยละ 11 ที่เป็นผู้นำขับเคลื่อนบทสนทนาเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณดีที่ชี้ให้เห็นว่าการที่ร้านค้ามีอยู่จริงและเป็นที่ยอมรับนั้น เป็นหัวข้อที่มีคนพูดถึงกันมากเป็นอันดับสองของทั่วภูมิภาค รวมทั้งร้อยละ 78 เป็นการสนทนาในแง่บวก ส่วนหัวข้อที่คนพูดถึงบ่อยที่สุดคือประสบการณ์ด้านการทำธุรกรรม รองลงมาเป็นเรื่องของความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 84)
หากมองภาพรวมทั่วโลก ผลวิจัยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อการชำระเงินทางมือถือ อัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ รวมทั้งการยอมรับจากร้านค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 88 ของร้านค้ามีความคิดเห็นด้านบวก ว่าหลายบทสนทนาช่วยให้การรับชำระเงินทางมือถือนั้นกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มนิยมการชำระเงินทางมือถือเพิ่มมากขึ้น ทำให้เหล่าร้านค้าที่ไม่รับการชำระเงินผ่านช่องทางดังกล่าวเริ่มรู้สึกว่าตนถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการค้า
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังชี้ว่าปี 2556 เป็นปีที่การชำระเงินผ่านมือถือได้เปลี่ยนจากการเป็นเพียงแค่แนวคิดไปเป็นการใช้ได้จริง ผู้ที่เคยชำระเงินผ่านมือถือแล้วนั้น เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการสนทนาในหัวข้อนี้ถึงร้อยละ 81 ในปีที่ผ่านมา ผิดจากเมื่อปี 2555 ที่มีเพียงร้อยละ 32 ของผู้ที่พูดถึงการชำระเงินผ่านมือถือเคยใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการดังกล่าว ส่วนในปี 2557 นี้ อาจเป็นปีที่แบรนด์มือถือที่อยู่ในตลาดมานาน เริ่มจับมือกับพันธมิตรด้านการช้อปปิ้ง ซึ่งนั่นหมายถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อมั่นด้านการชำระเงินผ่านมือถือในหมู่บรรดาผู้ใช้ยังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2555 (58%) เป็น 74% ในปี 2556 หรือแม้แต่บรรดาคนที่ยังไม่เคยใช้ก็มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น (จาก 76% ปี 2555 เพิ่มเป็น 79% ในปี 2556) สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์ของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพทางเทคนิคและเครือข่ายการยอมรับการชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าวนั้น ได้พัฒนาขึ้นในทางที่ดีเพื่อตอบสนองผู้บริโภค
การยอมรับของร้านค้าเป็นหัวข้อที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 15 ของบทสนทนาทั้งหมด และเป็นร้อยละ 48 ของบทสนทนาของผู้ประกอบการร้านค้าโดยเฉพาะ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้าเองให้การสนับสนุนการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ (86%) โดยคาดว่าตัวเลขของร้านค้าที่ยอมรับการชำระเงินลักษณะดังกล่าวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกในปี 2557 นี้ อันที่จริงแล้ว สภาพความพร้อมของร้านค้าเมื่อลูกค้าต้องการในการชำระเงินด้วยมือถือนั้นเป็นหัวข้อที่มีการสนทนาด้านบวกถี่ที่สุดเมื่อดูโดยรวมจากทั้งปี 2556
นาเกช เดวาตา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการยอมรับการชำระเงิน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “การวิจัยประเภทนี้ช่วยให้เราได้เห็นว่าผู้บริโภคมีความพร้อมมากเพียงใดในการหันมาชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้ชีวิตของพวกเขานั้นง่ายมากขึ้น ข้อมูลอันมีค่าที่ได้จากการวิจัยนี้ยังเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีว่าผู้บริโภคจะรับรู้และยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างไร”
“การส่งเสริมระดับของการสนทนาและการมีส่วนร่วมนั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่ผู้ประกอบการร้านค้ามากเป็นพิเศษ เพราะมันจะสื่อถึงความมีประสิทธิภาพและความสำคัญของการสื่อสารจากร้านค้าเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้บริโภคโดยรวม” นาเกช กล่าวปิดท้าย
สำหรับในประเทศไทยนั้น มาสเตอร์การ์ดเพิ่งประกาศความร่วมมือกับบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในการเปิดตัว “easyBills” นวัตกรรมการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น easyBills บนสมาร์ทโฟนและทางเว็บไซต์ www.easyBills.in.th ที่ให้ผู้ใช้สามารถจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค เติมเงิน และบิลอื่นๆ ผ่านบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดได้ ซึ่งบริการนี้ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าด้านการชำระเงินผ่านมือถือที่มาสเตอร์การ์ดได้ร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน