กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันช่วงปลายฤดูหนาวต้นฤดูร้อน ทำให้ช่วงเช้าอากาศหนาวเย็น และช่วงบ่ายอากาศร้อน ในบางวันมีฝนตก ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ ส่วนข่าวโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในพื้นที่ต่างๆ แท้จริงแล้วเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หรือ โรคไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (H1N1) ไม่ได้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ได้ดำเนินการเข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคระหว่างประเทศร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด ทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการสอบสวนโรค ป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคอย่างทันท่วงที
นพ.ศรายุธ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น โดยจังหวัดในเขตเครือข่ายบริการที่ 8 และเขตที่ 10 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 423 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อาการของโรคมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ด้วยอาการไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ โดยรักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน นอนหลับพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ มากๆ และสวมหน้ากากป้องกันโรคอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการสงสัยไข้หวัดใหญ่ ให้รีบมาพบแพทย์ ส่วนบุคคลทั่วไปหากมีอาการป่วยและอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 1 คน ในสถานที่ที่คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สำนักงานต่างๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดทำงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสมากๆ เช่น ลูกบิดประตู ราดบันใด โต๊ะอาหาร ด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป (สามารถทำลายเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ ได้) ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง
นพ.ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในประชาชนทั่วไป ได้แก่
1) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ในกรณีที่มือไม่เปรอะเปื้อนมาก
2) ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ร่วมกับผู้อื่น
3) ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด 4) ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น และ 5) ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย ภายใน 7 วัน ให้มาพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสผู้ป่วยให้แพทย์ทราบ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค 0-2590-3159 หรือ เว็บไซต์ http://beid.ddc.moph.go.th หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422"