กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ไอแอมพีอาร์
สสค. ต่อยอดพัฒนาเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านแคมเปญ “ครูสอนดี เดอะซีรี่ส์” โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ครูสอนดีสัญจร” ครั้งที่ 2โซนภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อสร้างเครือข่ายและขยายผล “นวัตกรรมการเรียนรู้” ที่น่าสนใจจาก “ครูผู้ได้รับทุนครูสอนดี” จำนวน 530 คนจากทั่วประเทศ ต่อยอดสร้างเครือข่ายครูที่มีพลัง และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานในอาชีพครูสู่บุคลากรด้านการศึกษาในส่วนภูมิภาค
ภายในงานได้จัดให้มีโซนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “นวัตกรรมครูสอนดี” ในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเรียนการสอน ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ จากครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” กว่า 15 คนในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกแล้ว และการจัดแสดงนวัตกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้จาก “ครูสอนดี” ในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีที่นำมาแลกเปลี่ยนภายในงานด้วย
โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การจัดเวทีเสวนา “ครูสอนดีกับการปฏิรูปการเรียนรู้แบบสอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” ที่ได้รับเกียรติจาก “ครูศรีลดา ยัมมี” กับภารกิจช่วยเหลือเด็กพิการด้วยวารีบำบัดจากจังหวัดนราธิวาส “ครูอัญชลี อินอ่อน” จากจังหวัดเพชรบุรี ผู้ค้นหาออกแบบสื่อการเรียนรู้อักษรเบรลล์เพื่อเด็กพิการทางสายตา “นางทิชา ณ นคร” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก “ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ” ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. และ “นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ” คนเดินเรื่องรายการ “คนค้นคน” มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น
โดย “ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ” ได้เปิดประเด็นในการพูดคุยในเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบันนั้นถูกใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ซึ่งมีรูปแบบและแนวทางที่ไม่ตอบโจทย์ของการศึกษาและสังคมในปัจจุบันที่มีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาจากเดิมที่เป็นนโยบายจากส่วนกลางลงไปสู่ภูมิภาค ไปเป็นการให้ท้องถิ่นได้เป็นผู้กำหนดทิศทางการศึกษาของตนเอง
“ครูสอนดีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคัดเลือกผ่านคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่นกว่า 2 แสนทั่วประเทศ นับเป็นก้าวแรกของการสร้างความคิดและพลังในระดับพื้นที่กับการมีส่วนร่วมในเรื่องของการศึกษา ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญที่จะก้าวต่อไปสู่การตั้งโจทย์ของพื้นที่เองในด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ ซึ่งนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในโซนต่างๆได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางการดูแลช่วยเหลือและจัดการตนเองของท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นทิศทางที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญก็คือการรวมพลังของเครือข่ายครูสอนดีและบุคลากรด้านการศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นของคำที่เรากำลังจะได้ยินกันมากขึ้นนับจากนี้ก็คือจังหวัดจัดการตนเอง โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายของการปฏิรูปการศึกษา” อ.อมรวิชช์ระบุ
นอกจากนี้ “ดร.อมรวิชช์” ยังกล่าวอีกว่า พลังของเครือข่ายที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นพลังใหญ่ โดยเฉพาะคณะครุศาสตร์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเตรียมพร้อมให้คนรุ่นใหม่ที่จะออกไปเป็นครูที่มีความรู้เท่าทันต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นถ้าวันนี้เราไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมปรับรูปแบบการเรียนการสอนและการผลิตครู แทนที่ครูที่จบออกไปจะได้ไปช่วยเหลือ กลับกลายเป็นว่าเราจะยิ่งไปทำร้ายหรือซ้ำเดิมเด็กๆ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการสอนที่ทำให้ครูจะต้องรู้เท่าทันเด็กและเท่าทันโลก
“เพราะการศึกษาที่ดีจะต้องสามารถปลดปล่อยศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของคนแต่ละคนให้ออกมาให้ได้ ดังนั้นปัจจัยสำคัญของความเป็นครูที่ดีในโลกยุคปัจจุบันจะต้องประกอบไปด้วย หนึ่ง ความเชื่อมั่น ครูทุกคนจะต้องเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนเป็นดี สองครูที่ดีจะต้องมีความหลงใหล และรักในวิชาชีพของตนเอง สามครูที่ดีต้องมีอุบายดี สอนเก่งสามารถเอาเรื่องราวต่างๆ ใกล้ตัวมาสอนได้ทั้งหมด สี่ไม่มีกรอบ ครูที่ดีต้องไม่มีข้ออ้างหรือนำเอาข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างมาเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน และสุดท้ายก็คือครูที่ดีจะต้องเป็นนักเรียนที่ดีและเป็นผู้ที่ชอบเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญของการเป็นครูสอนดีอย่างแท้จริง” ดร.อมรวิชช์กล่าว
บทสรุปของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนได้จัดขึ้นทั้งที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดเพชรบุรี แสดงให้เห็นถึงพลังที่เกิดขึ้นจากเครือข่ายครูในระดับท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และแน่วแน่ และเป็นจุดเริ่มต้นหรือก้าวแรกที่สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่มีครูสอนดีทุกท่านเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงการศึกษาของไทยให้ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่และสังคมไทยได้ประสบความสำเร็จ.