TCELSโต้โผตั้งศูนย์อบรมบุคลากรด้านชีววิทยาศาสตร์นำเทคโนโลยีการแพทย์สู่ตลาด

ข่าวทั่วไป Friday March 7, 2014 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ TCELS โต้โผจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมระดับนานาชาติ บ่มเพาะบุคลากรด้านชีววิทยาศาสตร์นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ออกสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักสากล เปิดตัวปลายปี ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะ ประธานร่วมเอเปคฝ่ายรัฐบาลจากประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.สุมล ปวิตรานนท์ ผู้จัดการโครงการพิเศษจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด TCELS เข้าร่วมประชุม APEC Life Sciences Innovation Forum Planning Group (LSIP PG) ที่นครหนิงโป ประเทศจีน โดยการประชุมครั้งนี้ ดร.Ryan C. MacFarlane ผู้ประสานงานหลักของเอเปค ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ประธานในเวทีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ในที่ประชุม มีการรายงานผลสำเร็จของการดำเนินงานในภาพรวมของการประชุม ในปีที่ผ่านมา และมีการทบทวนการจัดลำดับความสำคัญด้านบริการสุขภาพและนวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับปี 2014 เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ การค้าและการลงทุน (Committee of Trade and Investment : CTI) ต่อไป โดยในครั้งนี้ TCELS ได้หารือร่วมกับ KHIDI ( Korean Health Industry Development Institute )ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของประเทศเกาหลีที่มีลักษณะการทำงานเหมือน TCELS ได้ เสนอต่อที่ประชุมในการร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม APEC-AUTM Bio Medical Technology Commercialization Training Center ซึ่งเป็นศูนย์อบรมที่จะมีความร่วมมือทั้ง 3 ภาคส่วนในรูปแบบ PPP –Public-Private-Partnership ระหว่างไทย เกาหลี และ สมาคมวิชาชีพด้านการฝึกอบรมระดับโลกคือ AUTM (Association of University Technology Managers) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุม LSIF PG แล้ว และจะนำเสนอต่อ AUTM เพื่อจัดทำรายละเอียดต่อไป ผอ.TCELS กล่าว ดร.นเรศ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ฝึกอบรมฯ เป็นเสมือนศูนย์บ่มเพาะบุคลากรที่จะมาบริหารจัดการให้นวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ออกสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักสากล โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการราวเดือนพฤศจิกายนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี และจัดให้มีการฝึกอบรมในคราวเดียวกัน โดยผู้เข้าร่วมจะมาจากเขตเศรษฐกิจเอเปคซึ่งเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำไปถ่ายทอดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Train-The trainer โดยได้รับการสนับสนุนหลักสูตรจาก AUTM ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพทางด้านการฝึกอบรมในระดับโลก ผอ.TCELS กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุม APEC LSIF นั้น TCELS ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานหลักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่สำคัญของทุกภาคส่วน ให้เกิดเป็นเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การการพัฒนานวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ เกิดการลงทุน เพื่อสู่ความเป็นอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ธุรกิจที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษยชาติ และในฐานะที่ประธานร่วมเอเปคฝ่ายรัฐบาลจากประเทศไทย มองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มที่มีอิทธิพลในการกำหนดบทบาทของAPEC LSIF ต่อไปข้างหน้า เพื่อรักษาอำนาจต่อรองของไทยในเวทีโลกและสร้างแนวร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ