กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรีย ซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและปรับเพิ่มอัตรากำไรจากการดำเนินงานได้ การดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่งจะสามารถช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารวมแผนการลงทุนของบริษัท คาดว่า อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะไม่สูงเกินกว่า 50%
บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดย ณ เดือนธันวาคม 2556 นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 32% บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์ และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ถึง100 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 กิโลโวลต์
บริษัทขยายการลงทุนสู่ธุรกิจประกอบและจำหน่ายรถไฮดรอลิกในปี 2554 ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด (E&S) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด และในปี 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 85% ใน บริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด (LDS) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กแปรรูปเพื่อเสริมการจัดหาถังหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่บริษัท ภายหลังการซื้อกิจการของ LDS บริษัทจะทำการขยายกำลังการผลิตของ LDS เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและงานเหล็กแปรรูป
รายได้รวมของบริษัทในปี 2556 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังซึ่งคิดเป็น 44% ของรายได้รวม รองลงมาคือรายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (40%) รายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งคือ E&S และ LDS (11%) และรายได้จากค่าบริการ (5%) ในปี 2556 ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (38% ของรายได้รวม) บริษัทเอกชน (35%) และลูกค้าภาคการส่งออก (11%) ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า 3 รายซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดโดยเฉลี่ย ดังนั้น บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า ลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าทั้ง 3 รายยังคงเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ารายสำคัญเนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐและมีประวัติการชำระเงินที่ดี
สำหรับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้น บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทยรายเดียวที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ได้ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเนื่องจากรูปแบบทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรือธุรกิจที่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น คุณภาพสินค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ผลงานของผู้ผลิตและประวัติการดำเนินงานเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จำเป็นในการตัดสินใจซื้อ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ การขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตเดิม และการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่ที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันคาดว่าจะลดความรุนแรงลงเนื่องจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ภายใต้อัตราภาษีใหม่ การนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีกำลังไฟฟ้าระหว่าง 200-300 เมกะโวลต์แอมแปร์จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็นอัตรา 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Siemens ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งทาง Siemens จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้แก่บริษัท
สำหรับหม้อแปลงระบบจำหน่ายนั้นปัจจุบันมีคู่แข่งในประเทศมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย เมื่อพิจารณาจากรายได้ในปี 2553-2554 แล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 คิดเป็นประมาณ 10%-13% ของมูลค่าตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ในปี 2555 บริษัทมียอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายลดลง ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเป็น 8% อย่างไรก็ตาม บริษัทมียอดขายหม้อแปลงระบบจำหน่ายเพิ่มขึ้น 27% ในปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานะทางการเงินของบริษัทในปี 2556 ปรับตัวดีขึ้น โดยการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลประกอบการที่แย่ลงในปี 2555 รายได้รวมของบริษัทในปี 2556 อยู่ที่ 2,518 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 31.1% เมื่อเทียบกับยอด 1,921 ล้านบาทในปี 2555 รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าและบริษัทเอกชน นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งอีก 296 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 197 ล้านบาทในปี 2555 ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวนมากถึง 1,581 ล้านบาท โดยประมาณ 77% ของยอดขายที่รอการส่งมอบนี้มีกำหนดส่งมอบภายในปี 2557
และ ณ สิ้นปี 2556 บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลโครงการที่มีมูลค่ารวมประมาณ 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้ว บริษัทจะมีอัตราความสามารถในประมูลสำเร็จประมาณ 20%-25%
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2556 ฟื้นตัวดีขึ้น โดยอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 26.1% เทียบกับ 19.5% ในปี 2555 แต่ยังน้อยกว่าระดับ 30% ที่บริษัทสามารถทำได้ในช่วงปี 2553-2554 อัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าหม้อแปลงขนาดใหญ่และความผันผวนที่ลดลงของราคาวัตถุดิบ ทั้งนี้ กำไรขั้นต้นในปี 2555 ที่ตกต่ำมากมีสาเหตุมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังจากผู้ผลิตจากประเทศจีน ตลอดจนผลขาดทุนจากยอดสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศอินเดีย และการชะลอคำสั่งซื้อของลูกค้าบางรายเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2556 เท่ากับ 12.5% เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2555
บริษัทมีสภาพคล่องและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 14.8% ในปี 2555 เป็น 38.9% ในปี 2556 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 เท่าในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ระดับ 42.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 48.3% ณ สิ้นปี 2555 หนี้สินรวมลดลงส่วนหนึ่ง เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อบริษัทมีการลงทุนตามแผนการขยายงาน โดยบริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2558 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการกู้เงินเพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้มูลค่า 600 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2558 ด้วย
บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) (TRT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRT156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable