กรุงเทพ--2 เม.ย.--ทำเนียบรัฐบาล
นายวราเทพ รัตนากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่าในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะจัดประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในวันอังคารที่ 22 เมษายน นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการส่ง เสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2536 เป็นต้นมา นับว่าได้รับความสนใจจากนัก ลงทุนเป็นอย่างมาก พิจารณาได้จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ภาพรวม ของการลงทุนในภาคอีสานขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 514 โครงการ เงินลงทุน 70,249 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 133,202 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก เป็นภาคที่มีพื้นที่และประชากรมากที่สุดในประเทศ คือ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเป็นแรงงานที่มีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ ประมาณ 300,000 คน มีโครงข่ายการคมนาคมที่สมบูรณ์แบบ สามารถติดต่อโดยตรงกับภาคเหนือ ภาคกลาง และพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก มีต้นทุนของปัจจัยการผลิตบางประการถูกกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะราคาที่ดิน ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าส่วนกลาง และทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางของประเทศ และอยู่ชิดติดพรมแดนกับอินโดจีน จึงทำให้มีโอกาสพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน
ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีลู่ทางดี ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับ อุตสาหกรรมสนับสนุน เช่นอุตสาหกรรมรวมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟและอิเล็คทรอนิคส์ อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมผัก ผลไม้กระป๋อง และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิคส์ อุตสาหกรรมดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น
การส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาภาคฯ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ และการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับศักยภาพที่มีอยู่ของภาคฯ ทำให้มีโอกาสดีถึง 4 โอกาส คือ
โอกาสที่ 1 พัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตทางด้านการเกษตร เพื่อผลิตสินค้าแข่งกับตลาดโลก
โอกาสที่ 2 สามารถติดต่อทำธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบ และทรัพยากรจากกลุ่มประเทศอินโดจีน เพื่อประกอบการอุตสาหกรรม
โอกาสที่ 3 จะเป็นศูนย์ประสานความช่วยเหลือทางด้านการเงิน วิชาการและเทคโนโลยีจากนานาชาต เพื่อฟื้นฟูบูรณะกลุ่มประเทศอินโดจีน
โอกาสที่ 4 สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีศักยภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงเป็นวงจรท่องเที่ยวกับกลุ่มประเทศอินโดจีน--จบ--