กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กระทรวงสาธารณสุขเผยกลุ่มวัยทำงานในกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ ๕๐ มีปัญหาระดับไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะกลุ่มชายอายุ ๒๐ - ๒๙ ปี พบว่านิยมบริโภคอาหารประเภททอดหรือใส่กะทิมากที่สุด ส่วนแม่ค้าคำนึงถึงสีสันอาหารชวนซื้อ แอบใส่น้ำมัน เพิ่มความมันในแกง ต้มยำ ทำให้ร่างกายได้รับไขมันเกิน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน "มุมอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Wellness Corner)" เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ต้องการควบคุมน้ำหนัก รวมทั้ง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น โดยนายอนุทิน กล่าวว่า จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน ความเร่งรีบและการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป ต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จมากขึ้น เนื่องจากมีเวลาในการประกอบอาหารให้ครอบครัวน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร พบว่าการซื้ออาหารจะคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็ว มากกว่าคุณภาพหรือ คุณค่าอาหาร โดยนิยมซื้ออาหารพร้อมปรุง หรืออาหารถุงปรุงสำเร็จ ถึงร้อยละ ๘๘ ซึ่งอาหารเหล่านี้ผู้ขาย เป็นฝ่ายปรุง บางครั้งจะเน้นสีสันน่ากิน ทำให้แม่ค้าบางรายถึงขั้นใช้น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ใส่ในอาหารประเภทต้มยำ แกงกะทิ เพื่อดูให้อาหารมีความมันแทนเนื้อสัตว์ และน่ากินมากขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาวะสุขภาพ ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการตรวจร่างกายในวัยแรงงานอายุ ๑๕ - ๕๙ ปี พบปัญหา ที่น่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยสุขภาพในระยะยาวถึง ๔ เรื่อง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยพบว่าในผู้ที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินเข้าข่ายอ้วน พบในผู้ชายถึงร้อยละ ๒๓ ผู้หญิงพบได้ร้อยละ ๓๗ อีกประมาณร้อยละ ๗ มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดพบสูงกว่าค่าปกติ ๑๑๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประมาณ ร้อยละ ๑๐ ส่วนปัญหาระดับไขมันในเลือดสูง หรือที่เรียกว่าคอเลสเตอรอล พบเป็นสัญญาณที่น่าวิตกมากที่สุดพบว่าร้อยละ ๕๖มีไขมันสูงกว่าค่าปกติ ๒๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จากผลสำรวจสภาวะโภชนาการของคนกรุงเทพมหานคร ของกรมอนามัย ในปีที่ผ่านมา พบว่าในกลุ่มวัยทำงานอายุ ๑๕ - ๕๙ ปี ทั้งเพศชายและหญิงบริโภคอาหารครบ ๓ มื้อทุกวันเพียงร้อยละ ๔๗ นิยมบริโภคอาหารทะเลร้อยละ ๙๘ เนื้อสัตว์ปนมันและผลิตภัณฑ์ไขมันสูงร้อยละ ๙๑ เนื้อสัตว์ปีกร้อยละ ๘๔เครื่องในสัตว์ร้อยละ ๗๗ โดยเฉพาะเพศชายอายุ ๒๐ - ๒๙ ปี บริโภคอาหารทะเล และเนื้อสัตว์ปนมันเกือบทุกวันและ สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่นิยมบริโภคอาหารคาวที่ปรุงด้วยวิธีการทอดหรือใส่กะทิ สูงที่สุด จึงทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงเกินความจำเป็น
สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ จะต้องดำเนินการทั้งในเรื่องพฤติกรรมการบริโภค และการออกกำลังกาย โดยเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ลดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มี ไขมันคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูสามชั้น ขาหมู เครื่องในสัตว์ หนังเป็ด ไก่ ไข่แดง กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม แกงกะทิ เป็นต้น และต้องออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ ๓ วัน วันละ ๓๐ นาที เพื่อให้ร่างกาย เผาผลาญพลังงาน ลดการสะสมในร่างกาย เนื่องจากไขมันหากมีมากเกินความจำเป็น จะไปสะสมที่ผนัง ของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น สมอง ทำให้เกิดอัมพาต หัวใจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และไต ทำให้เกิดไตวายได้
(ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๘ )--จบ--