กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และนักธุรกิจรุ่นใหม่บุกตลาดต่างประเทศ หลังประสบความสำเร็จในโครงการฝึกอบรม “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” แล้ว 5 รุ่น รวม 192 ราย เตรียมเดินหน้าสร้างใหม่อีก 2 รุ่น ตลอดปี 2557 เน้นให้ความรู้ และเตรียมความพร้อมก่อนลงทุนจริง ด้านผู้บริหารธุรกิจอสังหาฯ เห็นโอกาสในเมียนมาร์ เตรียมศึกษารายละเอียดเพิ่มก่อนตัดสินใจลงทุน
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดการอบรม และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” รุ่นที่ 5 ว่า บีโอไอ ได้จัดโครงการจัดฝึกอบรมแก่กลุ่มนักธุรกิจกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่มาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งนับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักธุรกิจ ตลอดการฝึกอบรมทั้ง 5 รุ่น มีจำนวนนักธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ พลังงานทางเลือก และอุตสาหกรรมบริการ เช่น ก่อสร้าง ขนส่ง ผ่านการฝึกอบรมแล้วรวม 192 ราย จำนวนนี้มีถึง 32 ราย ได้เห็นโอกาสของการขยายกิจการเข้าไปยังต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย เป็นต้น
“ บีโอไอมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ ได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตลาดสินค้าไทยไปยังประเทศที่มีต้นทุน ต่ำกว่า รวมทั้งการส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยออกไปหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศหรือไปผลิตในประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
ทั้งนี้บีโอไอ ตั้งเป้าหมายที่จะจัดกิจกรรมฝึกอบรม พัฒนาความรู้ สร้างทัศนคติที่ดี และสร้างความพร้อมให้กับนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากนักธุรกิจที่ร่วมโครงการจะได้รับความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิทยากรที่มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ยังจะได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศโดยตรง ซึ่งจะทำให้ได้เข้าไปสัมผัส และเห็นแนวทางในการสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ กล่าวว่า ในปี 2557 บีโอไอมีนโยบายที่จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” ที่จะมีอีกอย่างน้อย 2 รุ่น ซึ่งนักธุรกิจที่ร่วมโครงการที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยอมรับว่าช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และมองเห็นศักยภาพของการขยายตลาดสินค้า เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงโอกาสของการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง
อย่างไรก็ตามบีโอไอ จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในด้านข้อมูล รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ จะเร่งสรรหาบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้น ๆ จัดทำข้อมูลเชิงลึกในรายละเอียดของการลงทุน รวมถึงเป็นผู้ช่วยให้แก่นักธุรกิจ คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในกลางปี 2557
นายคมกฤษ งามพิเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทรอยัล เอสเตท จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า บริษัทสนใจขยายธุรกิจไปสู่ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีความน่าสนใจหลังจากเริ่มเปิดประเทศมากขึ้นทำให้มีความต้องการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้หลังจากเข้าร่วมโครงการของ บีโอไอ และได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศเมียนมาร์อย่างจริงจังแล้ว ทำให้ได้เห็นทั้งโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยหลังจากนี้จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ ของเมียนมาร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนต่อไป
นายทันสิษฐ์ รุจิกาญจนา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทไดแมท สยาม จำกัด ( มหาชน ) ผู้ผลิตสีสำหรับงานอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศเมียนมาร์ มาตลอด และ มองว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีความน่าสนใจ การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม และเดินทางไปประเทศเมียนมาร์กับบีโอไอได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจกับผู้ค้าได้หลากหลาย และมีแนวโน้มที่จะหาพันธมิตรธุรกิจในการติดต่อส่งสินค้าไปจำหน่ายในเมียนมาร์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้
นายชลธรรม์ ธรรมจารี กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีแมค เจนเนอรัล จำกัด ผู้ประกอบกิจการรับสร้างบ้านและโรงแรม กล่าวว่า หลักสูตรสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศของบีโอไอ ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบถึงข้อมูลเชิงลึก ตั้งแต่ระบบการขนส่งสินค้า ขั้นตอนทางภาษี และกฎหมายการลงทุนของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูล โดยเฉพาะกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ ที่ได้เชิญนักลงทุนที่มีความต้องการสร้างเครือข่ายธุรกิจมาหารือร่วมกันทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมียนมาร์มีโอกาส ให้นักลงทุนไทยเข้าไปทำตลาดอีกมาก โดยเฉพาะที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเมียนมาร์กำลังต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปพัฒนาธุรกิจโรงแรมที่ขณะนี้มีปริมาณไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยว