กสอ. เร่งเสริมศักยภาพ SMEs กลุ่มภาคกลางตอนล่าง ด้วยองค์ความรู้ AEC

ข่าวทั่วไป Monday March 10, 2014 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดเพชรบุรี จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี จัดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมรุก AEC” เพื่อสร้างความตื่นตัวและความเข้าใจถึงผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเข้าสู่ AEC ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งให้ความรู้ในเรื่องสิทธิประโยชน์และการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น SMEs ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Provincial Product: GPP) กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุด คือ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปโลหะ พลาสติก และโอทอป ตามลำดับ ดังนั้น ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC จึงเป็นเรื่องที่จังหวัดเพชรบุรีให้ความสำคัญ สำหรับการสัมมนาและบรรยายพิเศษดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องเพชรไพฑูรย์ โรงแรมเมธาวลัย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนักธุรกิจและผู้ประกอบการเข้าร่วมการสัมมนาเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4578 – 9 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน นับเป็นการเพิ่มอำนาจ การต่อรองในเวทีการค้าโลกมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างโอกาสและส่งผลกระทบให้กับประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า และการบริการ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับกรมฯ ในปี 2556 เกี่ยวกับกระบวนการทางธุรกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจต่อการเข้าสู่ AEC ได้แก่ ด้านการผลิต ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯมีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ถึงกว่า ร้อยละ 37โดยพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการผลิตสูง มีเครื่องจักรอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้รับการรับรองมาตรฐานสากล รองลงมาคือ ด้านสินค้า โดยพัฒนาให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพ สามารถจัดเก็บได้นาน และเป็นที่รู้จัก ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯมีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ถึงกว่าร้อยละ 23 ในด้านบุคลากร มีการพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีคุณภาพ และมีความชำนาญ ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯมีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ได้ร้อยละ 13 ส่วนด้านตลาด สามารถพัฒนาให้มีฐานลูกค้าในประเทศที่มั่นคง มีห่วงโซ่อุปทาน มีการตลาดเชิงรุก และ มีการศึกษาข้อมูลการตลาดต่างประเทศ สร้างความมั่นใจต่อผู้ประกอบการในการเข้าสู่ AEC ร้อยละ 12 สำหรับในด้านการบริหารจัดการ มีระบบบริหารที่มีคุณภาพสากล และมีศักยภาพในการกระจายสินค้า ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯมีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ร้อยละ 11 และสุดท้ายในด้านการเงิน พัฒนาให้มีความพร้อมในด้านการเงินการลงทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และไม่มีหนี้สินคงค้าง สร้างความมั่นใจให้แก่ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯได้เพียงร้อยละ 4 จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจทั้งเชิงรุก และเชิงรับให้กับธุรกิจของตนเอง ทั้งในด้านคุณภาพของสินค้าซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก หากต้องการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ด้านบุคลากรและแรงงานที่ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้านการตลาดที่ยังขาดการศึกษาวิจัยข้อมูลในตลาดต่างประเทศ ด้านบริหารจัดการที่ยังขาดระบบที่เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยังคงเป็นปัญหาของ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้มากนัก ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในทุก ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน ทั้งในด้านการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการการผลิตให้สูงขึ้น การนำนวัตกรรมเข้ามาต่อยอดในกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย โดยต้องเรียนรู้ถึงความต้องการของลูกค้า การศึกษาวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการเตรียมความพร้อม รวมถึงการสร้างโอกาสทางการค้า ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีกว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน แรงงาน กลยุทธ์การตลาด การเจรจาธุรกิจ มาตรฐานสินค้า กฎ ระเบียบและข้อบังคับ โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ 4 สาขาหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าส่งและการค้าปลีก และการบริการ โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมกลุ่มจังหวัด (Gross Regional Product: GRP) กว่า 5 แสนล้านบาท (ที่มา : แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 พ.ศ.2557-2560) รวมถึงมีความพร้อมทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง และสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ AEC จึงได้กำหนดจัดสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมรุก AEC” เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการเตรียมความพร้อม และแผนงานการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องเร่งรัดพัฒนา รวมถึงกลไกที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้ผู้ประกอบการ SMEs มากยิ่งขึ้น ด้าน นายบรรเทิง นวมภักดี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี มีศักยภาพสูงในการประกอบกิจการ ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ และการเพาะปลูกโดยมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 700 โรงงาน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูป รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปโลหะ พลาสติก และโอทอป ตามลำดับ สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งการออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น น้ำตาลโตนด กล้วย สับปะรด และอาหารทะเลตากแห้ง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสินค้าโดดเด่นของจังหวัดที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มและควรให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC จึงเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ สำหรับการสัมมนาในวันนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการส่งเสริมความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้แก่ ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านข้อกำหนดของ AEC โอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงได้มากขึ้นทั้งในด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดในกลุ่มภาคกลางตอนล่าง 2 โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้เป็นอย่างดี สำหรับการสัมมนาและบรรยายพิเศษดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องเพชรไพฑูรย์ โรงแรมเมธาวลัย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนักธุรกิจและผู้ประกอบการเข้าร่วมการสัมมนาเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4578 – 9 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ