กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
บอร์ด กนอ. อนุมัติตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ใน จ.อุดรธานี และนิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ ใน จ.ชลบุรี มีพื้นที่รวมประมาณ 2,900 ไร่ โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนรวมทั้งสิ้นมูลค่าประมาณ 96,000 ล้านบาท และการจ้างงานกว่า 20,000 คน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557) มีมติเห็นชอบให้ กนอ. ร่วมกับเอกชนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่ง ในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม โดยมีเอกชนผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค รวมพื้นที่ 2 โครงการ ประมาณ 2,900 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 96,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 20,000 คน ตลอดจนการขยายตัวและเติบโตทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มยิ่งขึ้น รายละเอียดโครงการมีดังนี้
1. นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี พื้นที่ประมาณ 2,200 ไร่ ในท้องที่ตำบลโนนสูง และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ดำเนินงานโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด พื้นที่โครงการอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลัก พร้อมมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ประมาณ 20 กิโลเมตร สถานีรถไฟหนองตะไก้ประมาณ 3 กิโลเมตร และมีระบบถนนที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นได้สะดวก คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 74,000 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 16,900 คน อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดอุดรธานีเพิ่มขึ้น และให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ตลอดจนรองรับการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ
2. นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 690 ไร่ ในท้องที่ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ดำเนินงานโดย บริษัท อเมริกัน บิวเดอร์ จำกัด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อจังหวัดชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการไม่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วม และอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ประมาณ 70 กิโลเมตร ท่าเรืออุตสาหกรรม / นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 75 กิโลเมตร และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 113 กิโลเมตร และยังมีระบบถนนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นได้สะดวก พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม และคาดว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 22,000 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 5,000 คน อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเบาอื่นๆ ที่มีความต้องการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก
ทั้งนี้ บริษัทผู้พัฒนานิคมฯ ที่ร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กนอ. กำหนด ทำให้การจัดตั้งนิคมฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งนำแนวคิดในด้าน Eco – Industrial มาประกอบการออกแบบและประยุกต์ใช้ในโครงการฯ มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย / มาตรฐานสากล อีกทั้งมีการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า นายวิฑูรย์ กล่าวสรุป