กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--สถาบันอาหาร
นายญาณพัฒน์ อู่ทองทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสถาบันอาหาร ระบุว่ามุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ล้านคน อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุดประมาณ 1,365 ล้านคน กล่าวเฉพาะมุสลิมในอาเซียนมีประมาณ 264 ล้านคน หรือราว 40% ของจำนวนประชากรในอาเซียนทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 606 ล้านคน และประเทศที่มีมุสลิมอยู่มากกว่า 60% ของจำนวนประชากรในประเทศ คืออินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน โดยอินโดนีเซียมีมุสลิมสูงถึง 210 ล้านคน หรือคิดเป็น 88% ของจำนวนประชากร 241 ล้านคน ส่วนมาเลเซียมีมุสลิม 17.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 60.4% ของจำนวนประชากร 29 ล้านคน ส่วนที่บรูไนมีมุสลิม 0.3 ล้านคน หรือราว 67% ของจำนวนประชากร 0.4 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีมุสลิมอยู่ประมาณ 7 ล้านคน ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลในอาเซียนมีมูลค่าราว 80,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีการเติบโตสูง โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกผ่านทางโมเดิร์นเทรด
สำหรับทิศทางตลาดอาหารตะวันออกกลาง จากการรวบรวมของสถาบันอาหาร พบว่ามีแนวโน้มเติบโตดี โดยประเทศตะวันออกกลาง 17 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน ตุรกี อิรัก ซาอุดิอาระเบีย เยเมน ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล จอร์แดน ปาเลสไตน์ เลบานอน โอมาน คูเวต การ์ต้า บาห์เรน และไซปรัส มีประชากรรวม 396.65 ล้านคน ขณะที่ประเทศความร่วมมืออ่าว (Gulf Cooperation Council: GCC) มีประชากรรวม 49.8 ล้านคน ประกอบด้วย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน คูเวต การ์ต้า และบาห์เรน ซึ่งกลุ่มประเทศ GCC นี้ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง โดยผ่านผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า หรือสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตท้องถิ่น หรือลงทุนร่วม และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ให้บริการอาหาร(Food Hospitality) เช่น โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2.6% ประชากรมีกำลังซื้อสูง ทั้งเป็นศูนย์กลางการลงทุน โดยซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีการบริโภคสูงสุด สินค้าในกลุ่มธัญพืชมีปริมาณการบริโภคมากที่สุด ทั้งนี้นิยมบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูง อาทิ เนื้อ ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงเครื่องดื่มคาร์บอเนต และเนื่องจากสังคมเมืองขยายตัวมากขึ้น จึงนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงอาหารต่างชาติ และอาหารแปรรูปใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะประชากรเริ่มมีภาวะความอ้วน อาหารกลุ่ม เฮลท์ ฟู้ดส์ หรือ ฟังชั่นนัลฟู้ดส์ ได้รับความสนใจมาก และมีการเติบโตสูง
เพื่อเป็นการรองรับการขยายตลาดส่งออกไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ตลอดจนประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูง การดำเนินกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้น จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารฮาลาลของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารฮาลาล ตลอดจนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้บริโภคให้มีความมั่นใจในสินค้าอาหารฮาลาลของไทย
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) จึงได้สนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการตรวจรับรองอาหารฮาลาล โดยมอบหมายให้สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าฮาลาล กฎระเบียบในการส่งออกอาหารฮาลาลใน กลุ่มประเทศAEC และทิศทางตลาดอาหารฮาลาลในตะวันออกกลางและAEC โดยจัดอบรมเรื่อง “ความสำคัญและการตรวจรับรองอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกสู่ตลาดตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศ AEC” ทั้งหมดจำนวน 5 ครั้งทั่วทุกภูมิภาค โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มผู้ผลิตอาหารฮาลาลทั่วประเทศ กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานฮาลาลทั้งผู้ตรวจรับรองและที่ปรึกษาฮาลาล ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป ได้รับความรู้ดังกล่าว และนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการของตนให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออกตลาดต่างประเทศต่อไป
นางอรุณี อุสาหะ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและฝึกอบรมอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กล่าวว่า การจัดอบรมในโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นสถานประกอบการในการผลิตอาหารฮาลาลและการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยได้จัดอบรมในหลักสูตรดังกล่าวครบทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้เข้าอบรม 135 ราย ครั้งที่ 2 ที่พัทยา จ.ชลบุรี มีจำนวนผู้เข้าอบรม 63 ราย ครั้งที่ 3 ที่จ.เชียงใหม่ 72 ราย ครั้งที่ 4 ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา 77 ราย และครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่จ.นครราชสีมา 95 ราย รวม 5 ครั้ง 442 ราย ซึ่งหลังจากนี้จะได้ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อีกตามลำดับ ได้แก่ กิจกรรมการฝึกอบรมและพัฒนาวิทยากร (Train the trainer) ด้านแนวทางการตรวจรับรองฮาลาลสู่สากลให้กับผู้ตรวจรับรองฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภค โดยการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมดูงานโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ผ่าน หรือเข้าร่วมทำมาตรฐานฮาลาลให้กับกลุ่มของผู้ประกอบการที่ปรึกษา กลุ่มผู้ผลิตอาหารฮาลาลทั่วประเทศ กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานฮาลาลทั้งผู้ตรวจรับรองและที่ปรึกษา ฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน