ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 3,700 ล้านบาท “บ. อินโดรามา เวนเจอร์ส” ที่ระดับ “A+/Stable” แทนที่หุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทชุดเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 11, 2014 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,700 ล้านบาทของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่จะใช้ทดแทนอันดับเครดิตหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาทที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 เนื่องจากบริษัทตัดสินใจปรับเพิ่มมูลค่าของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่าย ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ การเพิ่มมูลค่าของหุ้นกู้ไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตเนื่องจากบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมซึ่งได้พิจารณาอยู่ในอันดับเครดิตแล้ว อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ชั้นนำระดับโลก ตลอดจนความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและการผลิตที่มีประสิทธิภาพจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) รวมถึงการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวทั่วโลก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารรวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนอุปทานส่วนเกินจากกำลังการผลิตใหม่ของกรดเทอเรฟธาลลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid -- PTA) และโพลีเอธิลีน เทอเรฟธาลเลท (Polyethylene Terephthalate -- PET) และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของบริษัท ซึ่งการก่อหนี้เพื่อการลงทุนอาจลดทอนฐานะการเงินของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าอัตรากำไรของอุตสาหกรรมจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับปัจจุบัน และบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด รวมถึงรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ให้ได้เพื่อจะช่วยบรรเทาความผันผวนที่เกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์สก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกลุ่มตระกูลโลเฮีย (Lohia) ในฐานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 และปัจจุบันกลุ่มตระกูลโลเฮียมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 66.4% บริษัทลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เป็นหลัก โดย ณ 31 ธันวาคม 2556 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 6.94 ล้านตันต่อปี ซึ่งประกอบด้วยกำลังการผลิตเทียบเท่าโมโนเอธิลลีนไกลคอล (Monoethylene Glycol – MEG) ขนาด 0.55 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิต PTA ขนาด 1.76 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิต PET ขนาด 3.57 ล้านตันต่อปี และกำลังการผลิตเทียบเท่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ 1.06 ล้านตันต่อปี ในสายการผลิตโพลีเอสเตอร์นั้น PTA และ MEG จะถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตกระจายอยู่ใน 15 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป (เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอาฟริกา) รูปแบบธุรกิจของบริษัทที่มีการผลิตครบวงจร ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและบรรเทาความเสี่ยงของภาวะอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีได้ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่จากประเทศจีนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นสร้างความกังวลต่อภาวะการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรของบริษัท สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะขาลงของอุตสาหกรรมห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ แต่แนวโน้มคาดว่าจะดีขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากโรงงานที่มีต้นทุนสูงจะปิดตัวลงซึ่งจะช่วยให้อุปสงค์และอุปทานกลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง ในปี 2556 บริษัทมีรายได้ 229,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดลงจาก 5.7% ในปี 2555 เหลือ 5.0% ในปี 2556 เนื่องจากอัตรากำไรในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทอ่อนตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจ PTA ในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน นอกจากนี้ โรงงานผลิต MEG ของบริษัทก็หยุดเพื่อทำการซ่อมบำรุงเกือบ 2 เดือน ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อตันของการผลิตลดลงจาก 86 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2555 เหลือ 79 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2556 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 10,389 ล้านบาทในปี 2556 ซึ่งมากกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้เนื่องจากบริษัทมีการบันทึกค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยประมาณ 1,800 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.1 เท่าในปี 2556 เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 80,630 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 เป็นจำนวน 85,266 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 58.8% ณ สิ้นปี 2555 เป็น 58.1% ณ สิ้นปี 2556 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงขยายกำลังการผลิตสำหรับโครงการเดิมตามแผนซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิต PTA ที่ Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยบริษัทวางงบประมาณสำหรับการลงทุนเหล่านี้ประมาณ 18,000 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2559 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 ล้านตัน ณ สิ้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม ประมาณการของทริสเรทติ้งได้เพิ่มงบประมาณสำหรับการซื้อกิจการของบริษัทอีกประมาณ 16,000 ล้านบาทในปี 2557 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 บริษัทได้ประกาศซื้อ PHP Fibers GmbH (PHP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเส้นใยเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Added, HVA) โดย IVL จะซื้อสัดส่วนการถือหุ้น 80% ใน PHP ซึ่งการซื้อกิจการในครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ HVA เข้ามาในกลุ่มบริษัท ในอนาคตคาดว่าบริษัทจะมีภาระเงินกู้เพิ่มมากขึ้นจากการซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแผนการลดภาระหนี้เพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ต่ำกว่า 0.8 เท่าให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท ส่วนสภาพคล่องนั้นคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานมากกว่า 11,000 ล้านบาทในปี 2557 หลังจากที่กำลังการผลิตส่วนขยายใหม่ ๆ เปิดดำเนินงาน ซึ่งเงินทุนจากการดำเนินงานในระดับดังกล่าวยังคงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทมีภาระหนี้ครบกำหนดในปี 2557 จำนวน 3,975 ล้านบาท และในปี 2558 อีกจำนวน 7,966 ล้านบาท โดยที่บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) อันดับเครดิตองค์กร: A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: IVL16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+ IVL16OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,690 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+ IVL174A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+ IVL174B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+ IVL186A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+ IVL18OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 98 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+ IVL18OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,302 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+ IVL18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 780 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+ IVL194A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+ IVL206A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 520 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+ IVL20DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 880 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+ IVL21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 37 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+ IVL21OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,163 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+ IVL224A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,250.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ IVL224B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,649.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ IVL22DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,645 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ IVL236A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ IVL24DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,475 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+ หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,700 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2567 A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ