กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) เผยผลความสำเร็จในปี 2556 สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคหืดที่มีภาวะหอบรุนแรงเฉียบพลันลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ในงานประชุมใหญ่ประจำปี ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2557 ณ ห้องราชเทวี แกรนด์บอลรูม โรงแรมเอเชียจะเป็นการยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยได้เข้าถึงการรักษาให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก และเป็นเวทีแข่งขันการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้กับโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกอยู่ในเครือข่ายกว่า 1,340 แห่ง ทั่วประเทศ
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) กล่าวว่า จากความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ฝ่ายการแพทย์ และภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันดำเนินเครือข่ายคลินิโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายมา โดยเฉพาะการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้จัดทำโครงการ “พัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยโรคหืดตามรูปแบบโปรแกรม Easy Asthma Clinic สำหรับหน่วยบริการ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขึ้นตั้งแต่ปี 2552 โดยให้เงินสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศจัดตั้งคลินิกโรคหืดแบบง่ายขึ้นและสนับสนุนยาพ่นเสตียรอยด์ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคหืดแก่โรงพยาบาลเครือข่าย ทำให้ในปี พศ. 2556 ที่ผ่านมาสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลลดลงได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเครือข่ายฯและหน่วยบริการ สปสช. ได้มีระบบการบันทึกข้อมูลการดูแลผู้ป่วยโรคหืดที่มีมาตรฐาน สามารถสืบค้นและให้การดูแลต่อเนื่องในเครือข่ายฯได้ รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคหืด เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืดให้ได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง มีการให้ยาและใช้ยาได้อย่างถูกต้อง สามารถควบคุมโรคหืดของตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเฉกเช่นคนปกติธรรมดา
ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีเพิ่มขึ้นทุกปี อาทิ ปี 2548 มี 66,679 คน ปี 2554 เพิ่มเป็น 112,961 คน ขณะที่ในปี 2540 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืด 806 คน ปี 2546 เสียชีวิต 1,697 คน โดยมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องการรักษาฉุกเฉินปีละกว่า 1 ล้านคน และแนวโน้มจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ผู้ป่วยทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะเป็นโรคหืดได้
นอกเหนือจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง สปสช และเครือข่ายฯ ความสำเร็จของโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการมีภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่มุ่งเน้นประโยชน์ที่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในโอกาสครบ 10ปีของเครือข่ายฯ ผมขอขอบคุณ สปสช และ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK ที่ได้สนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆในเครือข่ายฯนี้มาตั้งแต่ต้น จนทำให้ความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ตามมาตราฐานสากลแม้ในโรงพยาบาลเล็กๆที่อยู่ห่างไกล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ และยังเป็นการยกระดับของระบบสาธารณสุขในประเทศอีกด้วย
คุณวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท GSK ได้กล่าวว่า GSK ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหวังให้คนไทยเข้าถึงสุขภาพดี ตามปณิธานของบริษัทฯ คือ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำกิจกรรมได้มากขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น และสิ่งที่ GSK ได้ทำมาตลอดคือการร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งของสังคมไทย ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย เป็นโครงการหนึ่งที่ GSK ได้ร่วมสนับสนุนด้านองค์ความรู้มาตั้งแต่เริ่ม ทั้งได้เห็นความก้าวหน้าและผลจากความตั้งใจจริงของทีมงานโดยเฉพาะ นพ.วัชรา ประธานโครงการฯ ที่มุ่งมั่น ทุ่มเทเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี และสปสช ที่เข้ามาสนับสนุนให้เครือข่ายฯ สามารถดำเนินได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลถึงระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น GSK พร้อมสนับสนุนเพื่อพัฒนาวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ๆในการรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพของประเทศไทย
ปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ ที่การจัดงานประชุมใหญ่ประจำปี ครั้งที่ 10 (10th EACC Annual Meeting) เป็นการครบรอบการจัดงาน 10 ปีอย่างเป็นทางการของการก่อตั้งเครือข่ายนี้ ได้มีการสัมมนาวิชาการในหัวข้อต่างๆ และเป็นเวทีการประกวดผลงานการพัฒนาคุณภาพการรักษาผู้ป่วยโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในโครงการ EACC Excellence Award ประจำปีอีกด้วย โดยเวทีนี้ เป็นเวทีการแสดงการนำเสนอผลงานและแนวทางในการบริหารจัดการของคลินิก และผลงานการรักษาผู้ป่วยโรคหืดเชิงคุณภาพ ตามโจทย์ของคณะกรรมการที่จะทำการพิจารณาผลงานคลินิกที่สามารถยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดให้ได้ตามเป้าหมายและเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติบริการสาธารณสุขการดูแลผู้ป่วยโรคหืด
ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น แม้ว่าโรงพยาบาลเครือข่ายบางแห่ง จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แต่ก็มีแนวทางการรักษาโรคอิงตามเกณฑ์วิธีการรักษามาตรฐานสากล คือมีการประเมินโรค และประเมินสมรรถภาพปอดอย่างง่าย มีการใช้ยาพ่นรักษา มีการให้ความรู้ผู้ป่วย สอนการพ่นยา และสอนวิธีการออกกำลังกายอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายๆ โรงพยาบาลสามารถลดสถิติจำนวนการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินและการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบรุนแรง ที่สำคัญคือผู้ป่วยทั่วประเทศสามารถเข้ารับการรักษาได้จากโรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ เพราะการรักษาได้มาตรฐานตามที่ สปสช. กำหนดไว้