กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA เผยผลวิจัยศึกษาฝุ่นละอองในอากาศช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบสารก่อมะเร็งในฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ระบุสารก่อมะเร็งในควันเสียรถยนต์มีอันตรายมากกว่า
จากสถานการณ์วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือตอนบนที่เกิดจากการเผาป่าในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA ได้เก็บข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในชั้นบรรยากาศในช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติ เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์การเกิดโรคมะเร็งปอด อันเกิดจากสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือสาร PAHs ซึ่งมีสารเบนโซเอไพรีน B(a)P ที่มีผลต่อการเกิดโรคมากที่สุด
โดยกำหนดระยะเวลาการเก็บตัวอย่างสภาพอากาศในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และช่วงเดือนมีนาคม 2556 หลังเกิดวิกฤติหมอกควัน
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA เปิดเผยว่า จากตัวอย่างสภาพอากาศ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน อุตรดิตถ์ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง เพื่อศึกษาผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นของสาร PAHs ในชั้นบรรยากาศ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากสารก่อมะเร็ง ‘เบนโซเอไพรีน’ ที่มีฤทธิ์การก่อมะเร็งมากที่สุด ซึ่งอยู่ในฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน PM 2.5 โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ GCMS-QP2010 Ultra Shimadzu ในการจัดเก็บแล้วนำมาวิเคราะห์กับซอฟแวร์ นิบบร้า ซึ่งเป็นซอฟแวร์ประเมินความเสี่ยงจากการรับสารก่อมะเร็ง
โดยพบว่า จังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดที่มากับฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงก่อนเกิดวิกฤติมากที่สุดได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีค่าสารก่อมะเร็งก่อนเกิดวิกฤติหมอกควันอยู่ที่ 445 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาได้แก่ลำปาง และแพร่ ที่มีค่าสารก่อมะเร็งอยู่ที่ 87 และ 46 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีค่าความเสี่ยงต่ำสุดเพียง 0.1 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนหลังการเกิดวิกฤติหมอกควันจากการเก็บข้อมูลตัวอย่างอากาศพบว่า ปริมาณสารก่อมะเร็งเบนโซเอไพรีน ในจังหวัดอุตรดิตถ์ลดลงเหลือเพียง 334 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่จังหวัดแพร่และลำพูนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 46 ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเพิ่มเป็น 91 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจังหวัดลำพูนจากเดิม 0.45 เพิ่มเป็น 46 พิโคกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร โดยจังหวัดเชียงใหม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งน้อยสุดเพียง 0.16 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการควบคุมคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ
“หากนำสภาพอากาศ 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีค่าเฉลี่ยจะพบว่าอยู่ที่ 563 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มาเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกจะพบว่า สภาพอากาศ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนพบว่า ประชาชนมีค่าความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ เบลเยี่ยมและสหรัฐอเมริกา แต่ต่ำกว่าเมืองใหญ่ๆใน เช่น ฮุงฮอม ประเทศฮ่องกง ซัวเถาและกวางโจวจากประเทศจีน ที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าไทยถึง 49, 38 และ 36 เท่าตามลำดับ ซึ่งล้วนเป็นเมืองใหญ่ที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น สะท้อนให้เห็นได้ว่า ควันไฟป่าในก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน PM 2.5 มีสารก่อมะเร็งในระดับความเข้มข้นต่ำกว่าฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ ทำให้ประชาชนที่สูดดมควันไอเสียจากรถยนต์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าการสูดดมควันไฟป่า” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช กล่าว