กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานาฏศิลป์และศิลปการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) นำเสนอผลงานวิจัย ชุด “มัทนานครเรณู” ในรูปแบบการฟ้อนภูไทโดยรังสรรค์เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชุดใหม่ เพื่อการอนุรักษ์เชิงบูรณาการ และสืบสานวัฒนธรรมภูไทสืบต่อไป
นายภีระวัฒน์ แพงเพ็ง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานาฏศิลป์และศิลปการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในฐานะรองประธานจัดงานและคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า การนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ผ่านกระบวนการเรียนรายวิชาการวิจัยทางนาฏศิลป์และศิลปการแสดง ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ อีกทั้งมุ่งเน้นให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการฟ้อนรำพื้นบ้านที่เป็นวัฒนธรรมประจำถิ่นของแต่ละที่ โดยผู้วิจัยได้เลือกการฟ้อนภูไท วัฒนธรรมที่สวยงามและอ่อนช้อย ประจำจังหวัด นครพนม ที่มีการสืบทอดกันมาหลายรุ่น ซึ่งนับวันจะเลือนหายไปมารังสรรค์เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชุดใหม่ ในชื่อ “มัทนานครเรณู” (อ่านว่า มัด-ทะ-นา-นะ-คะ-ระ-เร-นู) ผู้วิจัยต้องการที่จะรวบรวมข้อมูลท่ารำต่าง ๆไว้ให้คนรุ่นหลัง อันจะเป็นประโยชน์กับผู้สืบค้นเรื่องดังกล่าว และเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาวภูไท ให้คงอยู่สืบไป
“มัทนานครเรณู มาจากคำ 3 คำคือ เรณู แปลว่า หญิงงามหรือเมืองแห่งดอกไม้บาน มัทนา แปลว่า ดอกกุหลาบ นครเรณู หมายถึงเมืองเรณู “มัทนานครเรณู” จึงแปลได้ว่า หญิงงามดั่งดอกกุหลาบแห่งเมืองเรณู ลักษณะของการฟ้อนภูไทเรณูนคร ชายหญิงจะจับคู่เป็นคู่ ๆ แล้วฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อนรวมทั้งหมด 16 ท่า ในส่วนของการนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยได้ประดิษฐ์ เครื่องแต่งกาย และรังสรรค์ท่าฟ้อนขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำเสนอ โดยศึกษาหาข้อมูล และได้รับคำแนะนำอีกทั้งเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟ้อนรำ จนสามารถถ่ายทอดออกสู่สายตาบุคคลภายนอกได้ และเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กัน ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” นายภีระวัฒน์ กล่าว
ด้านอาจารย์กุลชไม สืบฟัก อาจารย์ประจำวิชาการวิจัยทางนาฏศิลป์และศิลปการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดหรือเกณฑ์ที่จะประเมินว่าเรื่องที่นักศึกษาจะทำการวิจัยนั้นเหมาะสมหรือไม่ คือ การเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องของบุคลากรและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องเป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมด้วย สำหรับการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ จะเน้นให้นักศึกษารู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองทั้งในฐานะที่เป็นนักศึกษาและฐานะที่เป็นคนไทย เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจของนักศึกษาในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ