กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--บางกอก พับบลิค รีเลชั่น
SUPER JAPAN เป็นสารคดี 5 เรื่องจากผู้สร้างภาพยนตร์หน้าใหม่ชาวญี่ปุ่น ที่ชนะการประกวดโครงการนักสร้างสารคดีมือใหม่ของดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน จากวัฒนธรรมโบราณสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ล้ำหน้า จากผู้นำระดับท้องถิ่นสู่ปรากฏการณ์ระดับโลก สารคดีจากนักสร้างมือใหม่ทั้ง 5 เรื่องจะนำเสนอเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นผ่านช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้าที่โดดเด่น ความหมกมุ่นลุ่มหลง และความสำเร็จในด้านต่างๆ
โครงการนักสร้างสารคดีมือใหม่นี้เป็นความร่วมมือระหว่างดิสคอฟเวอรี่ เน็ตเวิร์กส์ เอเชียแปซิฟิกกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องในรูปแบบสารคดีของนักสร้างภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น พร้อมกับเป็นเวทีแสดงความสามารถ และนำเรื่องราวของสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในปัจจุบันจากมุมมองของคนญี่ปุ่นไปสู่ชาวโลก
SUPER JAPAN ออกอากาศวันที่ 17-19 มีนาคม เวลา 18.00 -19.00 น.ติดต่อกัน 3 วัน ทางดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล ทรูวิชั่นช่อง 19
เรื่องย่อ
BIG BOYS CLUB (17 มีนาคม เวลา 18.00 น.)
ผู้กำกับ: ทาเคอากิ นาเมกิ บ. นิเกอิ วิชวล อิมเมจเจส อิงก์
หลังความวิบัติของสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวจากเถ้าถ่านและก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก การเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งดังกล่าวนี้มีพื้นฐานมาจากวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของวิศวกรและบริษัทที่พัฒนาเครื่องจักรทรงประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขึ้นใหม่จากศูนย์ สารคดีเรื่องนี้พูดถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยการสำรวจนวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังเครื่องจักษ์ยักษ์ใหญ่ไฮเทครุ่นล่าสุดของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเจาะอุโมงค์ขนาดใหญ่ ไปจนถึงเครื่องทุบอาคารสูง พร้อมกับเล่าถึงบทบาทของเครื่องจักรเหล่านี้ในการพลิกโฉมประเทศญี่ปุ่นและโลกของเราให้เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
RAMENOMANIA (17 มีนาคม เวลา 18.30 น.) ผู้กำกับ: นากาอิ โยชิทากะ ทีวี โตเกียว
ฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี คนร่วมครึ่งล้านคนจะมาชุมนุมกันในเทศกาลราเมนของญี่ปุ่น ขณะที่มีคนหนึ่งล้านคนแวะเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ราเมนในเมืองโยโกฮามาเป็นประจำทุกปี สารคดีเรื่องนี้เป็นการสำรวจความหลงใหลในเส้นก๋วยเตี๋ยวของญี่ปุ่น พร้อมกับพาไปรู้ลึกเกี่ยวกับราเมน อาหารที่ได้รับความนิยมชนิดหนึ่งของประเทศซึ่งกำลังออกไปบุกตลาดทั่วโลก ตามไปดูเคนจิ สึคาดะ หนึ่งในสุดยอดเชฟราเมนของญี่ปุ่น สร้างสรรค์เมนูเด็ดราเมนเพื่อนำเสนอในเทศกาลราเมนครั้งแรกของสิงคโปร์ ในขณะที่มาซาฮิโร นากาโน คอราเมนและลูกจ้างพิพิธภัณฑ์ราเมนชิน-โยโกฮามาถ่ายทำวิดีโอเพื่อใช้เป็นสื่อสอนชาวต่างชาติเกี่ยวกับวิธีกินราเมน สารคดีเรื่องนี้ถักทอเรื่องราวของพวกเขาเข้ากับเรื่องราวของคอราเมนคนอื่นๆ รวมทั้งนักเต้นระบำหน้าท้องคนหนึ่งที่สามารถกินราเมนได้วันละ 25 ชาม นักเขียนบล็อกชาวอเมริกันที่แวะชิมราเมนมาแล้วกว่า 800 ร้าน และนักวิจารณ์ราเมนชาวญี่ปุ่นที่กินราเมนมาแล้ว 21,500 ชาม
ON-TIME METRO (18 มีนาคม เวลา 18.00 น.)
ผู้กำกับ: ยาสุฮิโร อูเอมัทสึ บ. คอลแลบอเรชั่น อิงก์
ด้วยจำนวน 179 สถานี ของเส้นทาง 9 สายและผู้ใช้บริการปีละมากกว่า 2.3 พันล้านคน รถไฟใต้ดินโตเกียวจึงถือเป็นหัวใจของระบบขนส่งมวลชนในโตเกียว การให้บริการที่ตรงเวลา จนผู้คนถึงกับตั้งนาฬิกาตามเวลาเทียบชานชาลาของรถไฟ ถ้ารถไฟสายไปหนึ่งนาที คนขับจะต้องขอโทษผู้ใช้บริการ สารคดีเรื่องนี้พาไปดูเบื้องหลังรถไฟใต้ดินเพื่อสำรวจทักษะ ความคิดความอ่าน เทคโนโลยีและการฝึกอบรมพนักงานประจำสถานีและคนขับ ซึ่งได้รับการฝึกให้ขับในระดับความเร็วที่ตรงเป๊ะ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะขัดข้องอย่างไรก็ตาม พวกเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความเชื่อถือได้และบริการที่ตรงเวลาของรถไฟใต้ดินญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ก่อการร้ายและแผ่นดินไหว รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยปรับปรุงด้านความปลอดภัยและการซ่อมบำรุงเชิงป้องกันอย่างเป็นระบบ
SEA WHISPERERS (18 มีนาคม เวลา 18.30 น.)
ผู้กำกับ: มาซาชิ “โช” มัทสุฮาชิ บ. เจแปน เคเบิล เทเลวิชั่น จก.
เชื่อกันว่าวัฒนธรรมดำน้ำไร้เครื่องช่วยหายใจของผู้หญิงญี่ปุ่นเพื่อจับหอยเป๋าฮื้อและหอยตาวัวแหล่งรายได้ของพวกเธอ หรือที่เรียกว่า อามะ มีมาตั้งแต่ 5,000 ปีที่แล้ว หัวใจสำคัญของวัฒนธรรมนี้ก็คือ อัตลักษณ์ของนักดำน้ำหญิงที่เข้าใจความจำเป็นของการอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ หากคนรุ่นหลังต้องการจะสืบสานวิถีชีวิตอันเก่าแก่นี้ นั่นก็หมายความว่า พวกเธอจะต้องปฏิเสธที่จะใช้ถังดำน้ำ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำมาหากินและการที่อามะส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 65 ปีแล้ว ทำให้อนาคตของพวกเธอไม่มั่นคงเอาเสียเลย
POPCORN DREAMS (19 มีนาคม เวลา 18.00 น) ผู้กำกับ: นาโอโตะ ฮูเอดะ ทีวี อาซาฮี
สารคดีเรื่องนี้พูดถึงการขยายอิทธิพลออกไปทั่วโลกของเจป็อปไอดอล AKB48 จากอากิฮาบารา กรุงโตเกียว และตามไปดูการรุกตลาดในต่างประเทศครั้งแรกของวงเกิร์ลกรุ๊ปคือวง JKT48 ในจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย ตามไปดูสาวเมโลดี้ นูรามดานี ลักซานิ สมาชิกวง JKT48 ฝึกฝีมือเพื่อแจ้งเกิดในวงการป็อปไอดอลในอินโดนีเซีย และฮานุกะ นากางะวะ สาวญี่ปุ่นที่โอนย้ายตัวเองจากวง AKB48 ไปอยู่กับ JKT48 เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้สาวอินโดนีเซียก๊อปปี้เพลงและท่าเต้นของ AKB ซึ่งบุคลิกภาพและความพยายามของเธอที่จะเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นทำให้เธอมีแฟนคลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของยาซูชิ อากิโมโต โปรดิวเซอร์ที่สร้างสรรค์สูตรสำเร็จให้กับ AKB สารคดีเรื่องนี้จะทำให้คุณได้เห็นเบื้องลึกของวัฒนธรรมป็อปไอดอลญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่น จำกัด
โทรศัพท์ 02-664 9500 คุณกัณฑิชา ต่อ 112 คุณภัตติมา ต่อ 113