กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
จากกรณีพบไก่ตายปริศนากว่า 3000 ตัวที่จังหวัดหนองคาย และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดหนองคายได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำเชื้อไก่ หรือ สว็อป จากฟาร์มต่างๆส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) ขอนแก่น เบื้องต้นยังไม่ทราบผลยืนยันว่าเป็นไข้หวัดนกหรือไม่นั้น
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากข้อมูลด้านระบาดวิทยาในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคอีสาน (จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ จ.มุกดาหาร จ.นครพนมและจ.สกลนคร) ยังไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) แต่อย่างใด แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าสาธารณสุข และ อสม. ในแต่ละพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันโรค โดยกำชับโรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่ มีอาการรุนแรง โรคปอดบวม และไข้หวัดใหญ่ทุกรายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว แต่อยากให้ระมัดระวังสำหรับการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด หากจำเป็นต้องเดินทางไปควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยโรคปอดบวม ซึ่งหากไปแล้วเดินทางกลับมามีไข้ ไอ ปวดเมื่อย ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยแจ้งประวัติการเดินทาง และการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง ให้แพทย์ผู้รักษารับทราบ
สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนกนั้น ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์ปีกและขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือบ่อยๆ หากพบว่ามีการตายของสัตว์ปีก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที อย่าพึ่งสรุปสาเหตุการตายเอาเอง หรือนำซากไก่มาชำแหละเพื่อจำหน่าย หรือรับประทาน หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกให้รีบไปพบแพทย์ หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง/นายแพทย์ศรายุธ กล่าว