กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--มอร์ ออร์ เลส
องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้กำหนดหัวข้อรณรงค์ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ในชื่อ “Think Eat Save กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตระหนักถึงการบริโภคอาหารในปริมาณเหมาะสม พอเพียงกับความต้องการ โดยไม่กินทิ้งกินขว้างอย่างเปล่าประโยชน์
แนวคิดนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนในประเทศร่ำรวยทิ้งขว้างเศษอาหารมากถึง 220 ล้านตันในแต่ละปี หรือเท่ากับผลผลิตอาหารทั้งหมดในกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนล่างของทะเลทรายซาฮารา และสอดคล้องกับสถิติในปี พ.ศ. 2553 ว่าอาหารที่ผลิตได้ในโลกกลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,300 ล้านตัน ขณะที่มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง 925 ล้านคน ซึ่งขยะที่เป็นของเหลือจากการกินอยู่มากที่สุดจะอยู่ในแถบเอเชียของเรานี่เอง ซึ่งในส่วนของไทยเองก็มีของเหลือจากพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 50 ตัวอย่างเช่น ในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2555
และข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่ากรุงเทพมหานครมีขยะปีละมากกว่า 3.3 ล้านตัน 44% เป็นขยะเศษอาหาร เท่ากับมีขยะเหลือจากการบริโภคถึง 1.4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ปริมาณขยะทั้งประเทศมีประมาณ 16 ล้านตันต่อปี ถ้าเทียบเคียงสัดส่วนเดียวกับกรุงเทพมหานครจะมีขยะที่เหลือจากการกินอยู่ของคนไทยเราถึง 7 ล้านตันต่อปี
ข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกได้ว่า นอกเหนือจากความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งอาหารระหว่างชาติร่ำรวยกับชาติยากจน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีมาช้านานแล้ว ยังพบปัญหาตกค้างที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างฟุ่มเฟือย 2 ประเด็นหลักที่ควรตระหนัก ดังนี้
ประเด็นแรก กระบวนการผลิตอาหารจากต้นน้ำถึงปลายน้ำล้วนเกิดการผลิตก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของปัญหาโลก
ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นต่อเนื่อง คือ ปัญหาขยะเศษอาหาร ซึ่งในมหานครต่างๆ ของโลกล้วนเผชิญปัญหาดังกล่าว
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในแต่ละวันนั้น ทาง กรุงเทพมหานครต้องบริหารจัดการขยะทั้งหมดปริมาณเฉลี่ยวันละ 9,000 ตัน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง (4,000 ตัน) พบว่าเป็นขยะที่เกิดจากเศษอาหารเหลือทิ้ง ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงวางแผนจัดการขยะในระยะยาว ด้วยวิธีการจัดการขยะให้เป็นการจัดการทรัพยากร ตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ ส่งเสริมการลดและคัดแยกมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดตามหลักการ 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle
“ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ดำเนินมาตรการเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดโครงการ การส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพในโรงเรียน กทม. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขยะอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการคัดแยกมูลฝอยอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ โดยใช้การย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนในถังหมักแบบปิด ซึ่งสามารถบำบัดมูลฝอยอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังได้กากตะกอนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แล้วยังขยายผลการใช้ประโยชน์จากขยะเศษอาหารด้วยวิธีต่างๆ ทั้งปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง น้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ อาหารสัตว์ หรือก๊าซชีวภาพ ไปยังสถานศึกษา โรงแรม สถานประกอบการ ตลาด ห้างสรรพสินค้า ชุมชน ฯลฯ ”
แม้กระบวนการจัดการและบริหารขยะจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ยิ่งนับวันประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมส่งผลถึงปริมาณการบริโภคอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่ปัญหาขยะจากเศษอาหารที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุดและถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค
“Think Eat Save กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” จึงเป็นสารที่มีความสำคัญที่ถูกส่งออกไป เพื่อให้ประชากรเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่ตามมาของการบริโภคอาหารอย่างไม่รู้คุณค่า และเพื่อขับเคลื่อนพลังในการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
” เริ่มวันนี้ เริ่มที่ตัวเรา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และก้าวสู่มหานครสีเขียว ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานคร ดังคำกล่าวที่ว่า “รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ด้วยนโยบาย 10+6 ไปกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”