กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--มอร์ ออร์ เลส
แนวโน้มเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 จากผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ พบว่า กรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจการค้า การบริการ การลงทุน การศึกษา เทคโนโลยี ฯลฯ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะส่งผลให้กรุงเทพมหานคร เกิดปัญหาสังคมและคุณภาพชีวิตที่รุนแรงขึ้น กล่าวคือกรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นเมืองที่มีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยมากขึ้น ภาวะเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีความขัดแย้งอันเนื่องจากความแตกต่างของภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีการดำรงชีวิตระหว่างคนกรุงเทพมหานครกับชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น ความแออัดของเมืองที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ของคนกรุงเทพมหานครโดยตรง เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศอันเนื่องจากการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษจากน้ำเสียอันเกิดจากน้ำทิ้งจากที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้น และปัญหาขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้น
กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถใช้โอกาสและได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปนี้ ในขณะเดียวกัน ต้องเตรียมมาตรการที่จะรองรับเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบทางลบ เพื่อปรับตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะปัญหาขยะ น้ำเสีย คุณภาพอากาศ อนามัยสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เริ่มปรับตัวในการเตรียมความพร้อมรับปัญหาสิ่งแวดล้อมอาเซียน โดยมอบให้ศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวบรวมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและจัดทำแผนยุทธศาสตร์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ในเบื้องต้นได้กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครปี 2560 “มหานครแห่งสิ่งแวดล้อมอาเซียน” หรือ “Green City of ASEAN” โดยกำหนดพันธกิจมุ่งพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟูและป้องกัน การสร้างค่านิยมรักษ์สิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน และการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งต้องเสนอผู้ว่าพิจารณาก่อนนำไปใช้
ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครโดยปรับตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักการ 3R คือ Reduce ลดการใช้น้ำ ลดการทำน้ำเสีย ลดการผลิตขยะ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวฯ Reuse ใช้ซ้ำ เป็นการหมุนเวียนใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่นขวดแก้วบรรจุสุรา เบียร์ น้ำปลา แก้วน้ำหรือแก้วกาแฟส่วนตัว กล่องข้าว ปิ่นโต การน้ำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการรวบรวมภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลหมุนเวียนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตสินค้าใหม่ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แม้แต่น้ำเสียก็สามารถนำมาผ่านกระบวนการบำบัดมาใช้ใหม่ได้ หรือเศษอาหารกิ่งไม้ใบไม้ก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักได้ก่อให้เกิดประโยชน์ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากทีเดียว
ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งปรับตัวคือปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดจากประชากรที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิดด้วยการประชาชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดและคัดแยกขยะและนำกลับไปใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด ทั้งรีไซเคิล เศษอาหาร กิ่งไม้ใบไม้กันอย่างจริงจัง การจัดระบบการเก็บรวบรวมและกำจัดมูลฝอยแยกประเภทและแปรรูปกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ปุ๋ยหมัก หรือเชื้อเพลิง พร้อมกับกำหนดมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นปัญหาน้ำเสีย ปัญหามลพิษทางอากาศก็จะเกิดขึ้นในทำนองเดียวกันซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันปรับตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักการ 3R ดังกล่าว
การเตรียมความพร้อมรับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปี 2558 จึงนับเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานครซึ่งมีหน้าที่โดยตรง จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม พร้อมมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงพัฒนาค่านิยมรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ก้าวอย่างเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการร่วมกันปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ประชาชนอยู่ดีมีสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รักกรุงเทพฯร่วมสร้างกรุงเทพฯ กับหม่อมราชวงษ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร