กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--มอร์ ออร์ เลส
คนในวงการรีไซเคิลยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “โลกนี้ไม่มีขยะ” เพราะทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ได้หมด ขยะทุกชิ้นมีมูลค่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ให้คำจำกัดความว่า ขยะมูลฝอย คือ สิ่งของจากบ้านเรือนที่ประชาชนไม่ต้องการ แล้วมีคนนำไปใช้ประโยชน์จนสุดท้ายนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงถูกทิ้งให้กับรัฐนำไปกำจัด แต่เมื่อย้อนดูประเทศไทย จะเห็นว่า ยังทิ้งสิ่งของมีค่า เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ พลาสติก เศษอาหาร ที่สามารถนำมาจัดการด้วยวิธี 3R (Reduce Reuse Recycle) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อยู่ กลายเป็นภาระของรัฐที่ต้องเก็บรวบรวมขยะไปกำจัด โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะถึงวันละ 9,800 ตันหรือ 3.5 ล้านตัน / ปี เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ต้องใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท / ปี ในการจัดการขยะเหล่านี้ ซึ่งหากมีการจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในเชิงเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาว่า ขยะ 1 กิโลกรัมเมื่อนำไปรีไซเคิล จะได้เงินคืนมา 8 บาท และในเชิงสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณขยะ 1 กิโลกรัม จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ หนึ่งในตัวการปัญหาโลกร้อนได้ถึง 0.3 กิโลกรัม เมื่อคำนวณจากปริมาณขยะที่มีอยู่ในแต่ละวัน จะเห็นได้ว่าขยะที่ถูกทิ้งมีมูลค่าแฝงอยู่อย่างมหาศาล
เมื่อลองแยกองค์ประกอบขยะในกองขยะแล้วจะพบว่า มีอยู่ 4 ประเภทหลัก และบางส่วนยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก่อนทิ้ง ดังนี้
50% ขยะย่อยสลายได้ (ขยะอินทรีย์)
เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ ไม่ควรฝังกลบ เพราะการย่อยสลายในสภาพไร้ออกซิเจน ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทางออกของการจัดการขยะอินทรีย์อย่างง่ายๆ ที่ทำได้เองที่บ้าน เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ นำเศษผัก เศษอาหาร เปลือกผลไม้ 3 ก.ก. กากน้ำตาล 1 ก.ก. คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงถังพลาสติกปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม 15 วัน จะได้น้ำชีวภาพ ทำปุ๋ยใบไม้แห้ง โดยนำไปใส่กระบะหรือถังที่มีรูระบายอากาศประมาณครึ่งถัง หลังจากนั้นเทเศษอาหารลงบนใบไม้ แล้วคลุกเคล้าให้เศษอาหารกระจายตัว สามารถเติมเศษอาหารได้ทุกวัน เตรียมฝาปิดกันหนูและแมลงสาบ ใบไม้จะย่อยและยุบตัวภายใน 15 วัน เศษอาหารจะถูกย่อยสลายจนหมดไป หลังจากนั้น 60 วัน จะได้เป็นปุ๋ยคุณภาพดีขึ้นมา นำไปเลี้ยงสัตว์ เศษอาหาร เปลือกผลไม้ คัดแยกไว้นำไปเลี้ยงปลา หมู เป็ด ไก่ ได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทาง เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดปริมาณขยะได้ 50% แล้ว
30% วัสดุรีไซเคิล
ได้แก่ แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก และอื่นๆ เมื่อหมดทาง Reuse แล้ว จึงคัดแยกตามประเภทเพื่อ Recycle นำไปแปรรุปเป็นสินค้ากลับมาใช้ใหม่ เช่น แก้ว เป็นขยะที่ไม่ย่อยสลาย แต่นำมา Recycle ใช้ใหม่ได้ หากไม่แตกเสียหายสามารถนำกลับเข้าสู่โรงงานเพื่อทำความสะอาด แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำอย่างน้อย 30 ครั้ง หากบิ่นแตกก็กลับเข้าสู่โรงงานหลอมมาใช้ใหม่ได้ 100% ขวดแก้วที่ขายได้ราคาดี คือ ขวดแก้วใส ขวดแก้วสีชา และสีเขียว ซึ่งพลังงานที่ประหยัดได้จากการ Recycle ขวดแก้ว 1 ใบ มากพอที่จะใช้ให้แสงสว่าง กับหลอดไฟถึง 4 ชั่วโมง
กระดาษ ควรแยกออกจากขยะทั่วไป ถ้าเปรอะเปื้อน เปียกน้ำ เปื่อยยุ่ยจะมีปัญหาในการ Recycle กระดาษสามารถ Recycle ได้หมดยกเว้น กระดาษทิชชู่ กระดาษเคลือบพลาสติก สำหรับกล่องนม และกล่องเครื่องดื่ม UHT ประกอบไปด้วย กระดาษ 75% พลาสติกโพลีเอทิลีน 20% และอะลูมิเนียมฟอยล์ 5% จะนำไปรีไซเคิลเป็นกระดาษ (แยกเยื่อกระดาษออก) และแผ่นกรีนบอร์ด ทำโต๊ะนักเรียนหรือร่วมโครงการหลังคาเขียว
เหล็ก Recycle ได้ 100% เช่น กระป๋องเครื่องดื่มบางชนิด กระป๋องบรรจุอาหาร Recycle แล้วนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนจักรยาน รถยนต์ ตู้เย็น คลิปหนีบกระดาษ ตะปู เหล็กเส้น สปริง เป็นต้น อะลูมิเนียม เช่น หม้อ กะละมัง กระทะ ลูกสูบใหญ่ ผ้าเบรก ล้อแม็กซ์ กระป๋องน้ำอัดลม สามารถนำไปขายเป็นรายได้ หรือส่งบริจาคเพื่อใช้ผลิตขาเทียม นอกจากนี้ โลหะอื่นๆ เช่น สแตนเลส ทองเหลือง ตะกั่วอ่อน ก็สามารถนำไปขายได้เช่นกัน
พลาสติก ตามหลักสากล จะแยกประเภทตามหมายเลขรหัสของพลาสติก หากเราทำความรู้จักพลาสติกประเภทต่างๆ จะพบว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการ Recycle ได้หลากหลาย ซึ่งการ Recycle พลาสติก 1 ใบ สามารถประหยัดพลังงานพอที่จะใช้กับหลอดไฟ 60 วัตต์ ได้นานถึง 6 ชั่วโมง (ภาพประเภทของพลาสติก 1-7)
17% ขยะทั่วไปรีไซเคิลไม่ได้
หมายถึง ขยะที่เหลือหลังคัดแยกขยะที่ย่อยสลายได้ และขยะรีไซเคิลไปแล้ว เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนแกง เศษหนัง เศษผ้า โฟม กระดาษที่เปรอะเปื้อนเปียกชื้น ขยะเหล่านี้ยังมีประโยชน์ เช่น นำไปทำเป็นพลังงานความร้อนนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า อัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง หรือแยกเฉพาะถุงพลาสติกไปผลิตน้ำมัน ส่วนที่ทำเชื้อเพลิงไม่ได้ เช่น เซรามิก กระเบื้องแตก ก็สามารถแยกไปถมที่ หรือเป็นส่วนผสมของสตรีทเฟอร์นิเจอร์ ถนน ทางเดินต่างๆ ได้
3% ขยะอันตราย / ขยะพิษ
เช่น ซากถ่านไฟฉาย ซากแบตเตอรี่ ซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ กระป๋องยาฆ่าแมลง เครื่องสำอางหมดอายุ หากมีการทิ้งรวมกับขยะทั่วไป จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ปริมาณโลหะหนัก เช่น พวกปรอท แคดเมียม ตะกั่วที่รั่วไหลจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ในดิน และสารอินทรีย์ในขยะ น้ำจากขยะไหลซึมลงสู่ใต้ดินในที่สุดก็ไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน เป็นปัญหาต่อสุขอนามัย
จากประเภทของขยะที่พบ เห็นได้ว่ากว่า 80% (ขยะย่อยสลายได้ และขยะ Recycle) เป็นขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ขณะที่อีก 17% คือ ขยะทั่วไป หากนำไปผ่านกระบวนการจัดการด้วยเทคโนโลยี ก็ยังคงมีประโยชน์อยู่ เหลือเพียงขยะอันตรายที่มีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น ที่ไม่คุ้มค่ากับการนำกลับมาจัดการใหม่ จึงเป็นภาพสะท้อนว่า ปัญหาการจัดการและลดปริมาณขยะยังมีทางออกอีกมากมาย
ขอเพียงทุกคนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำหลักการ 3R = Reuse Reduce Recycle มาใช้ เริ่มต้นที่ตัวเรา เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของกรุงเทพฯ รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ด้วย 10 นโยบายหลัก และ 6 มาตรการเร่งด่วน กับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร