“ขยะล้นเมือง”แก้ไขได้ด้วยการ... คัดแยกขยะมาใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด

ข่าวทั่วไป Friday March 14, 2014 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--มอร์ ออร์ เลส ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทุกเมือง การแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ปี 2556 กรุงเทพมหานครต้องจัดเก็บและกำจัดขยะ ถึง 3.5 ล้านตัน หรือ 9,960 ตันต่อวัน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 22 ของขยะทั้งประเทศที่มีประมาณ 15 ล้านตัน ทางออกของการแก้ไขปัญหาขยะในกรุงเทพมหานครคือการลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกขยะมาใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดคือที่ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม วัดและศาสนสถาน อาคารสูง แฟลต คอนโด ฯลฯ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ และเอกสารแผ่นพับของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่า มีวิธีจัดการกับขยะให้ลดลงที่แหล่งกำเนิดโดยนำไปใช้ประโยชน์ได้ถึงร้อยละ 80 จากวัสดุรีไซเคิลร้อยละ 30 และเศษอาหารกิ่งไม้ใบไม้ร้อยละ 50 กรุงเทพมหานคร ได้ทำโครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน (Community Based Solid Waste Management : CBM ) โดยมีชุมชนเข้าร่วม 265 แห่ง สถานศึกษา 35 แห่ง สถานประกอบการ 12 แห่ง และตลาด 2 แห่ง รวม 314 แห่ง โครงการรักษ์ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม มีชุมชนเข้าร่วม 112 แห่ง โครงการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนด้วยชุมชน มีชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และศาสนสถาน เข้าร่วม 6 ย่านคลอง ในพื้นที่ 7 เขต เป็นการสร้างความร่วมมือกันของคนในชุมชนให้ร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ไขปัญหา และร่วมทำตามมติที่ประชุม โดยพบว่ามีชุมชนที่ประสบความสำเร็จ และยังไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับระดับความร่วมมือของชุมชน ความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน การสนับสนุนจากสำนักงานเขต และภาคเอกชนที่รับวัสดุรีไซเคิล และความเข้มข้นในการดำเนินกิจกรรมการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลของคนในชุมชน โดยพบว่าการคัดแยกรีไซเคิลออกขายเพียงอย่างเดียว ขยะจะลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปริมาณขยะก่อนร่วมโครงการ หากคัดแยกเศษอาหารมาใช้ประโยชน์ด้วยจึงจะทำให้ขยะลดลงได้ร้อยละ 50 - 80 หลายชุมชนประสบความสำเร็จโดยสามารถผ่านการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ชิงถ้วยพระราชทานรอบสุดท้าย 2 ชุมชนได้แก่ชุมชนเกตุไพเราะ 3, 4, 5 เขตพระโขนง และชุมชนสงวนคำ เขตหนองแขม ผ่านรอบแรก 12 ชุมชน และโรงเรียน 16 แห่งผ่านการประกวดรอบแรกโรงเรียนปลอดขยะ (Zero waste) ซึ่งแต่ละแห่งมีวิธีการใช้ประโยชน์จากขยะตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยมีหลักการนำขยะไปใช้ประโยชน์ 2 ส่วนคือ ของขายได้หรือวัสดุรีไซเคิล กับขยะย่อยสลายได้ 1. ของขายได้หรือวัสดุรีไซเคิล เช่นแก้ว กระดาษ โลหะ/อโลหะ พลาสติก กล่องเครื่องดื่ม และอื่นๆ ที่ร้านรับซื้อ มีอยู่ในถังขยะที่บ้านเราประมาณร้อยละ 30 คัดแยกใส่กล่องหรือถุงไว้ไม่ทิ้งลงถังขยะนำไปขายหรือบริจาคให้คนที่ต้องการหรือส่งให้พนักงานเก็บขยะตามวันนัดเก็บวัสดุรีไซเคิลของแต่ละเขต ช่วยลดขยะได้ 30% 2. ขยะย่อยสลายได้ เช่นเศษอาหาร เศษผักเปลือกผลไม้ ใบไม้ เศษวัชพืช มีอยู่ในถังขยะประมาณร้อยละ 50 หากคัดแยกไว้และนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ทิ้งรวมกับขยะพลาสติก และขยะทั่วไปอื่นๆ จะลดขยะได้ถึง 50% แต่ต้องเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละแห่ง เช่น ทำปุ๋ยหมัก ทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่กรุงเทพมหานครแนะนำก็คือ ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารผสมกับใบไม้แห้ง โดยใช้ใบไม้แห้งเป็นวัสดุรองรับเศษอาหารและดูดซับน้ำหรือความชื้นและกลิ่นจากเศษอาหาร ลดปัญหากลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน วิธีการคือนำใบไม้แห้งใส่ในตะกร้าหรือวงบ่อซีเมนต์ให้มากกว่าครึ่งของตะกร้าหรือวงบ่อซีเมนต์ ที่มีรูระบายอากาศโดยรอบ เมื่อมีเศษอาหาร เศษผักเปลือกผลไม้ที่เหลือจากการบริโภคก็นำมาเทลงบนใบไม้แห้ง แล้วใช้เสียมคลุกเคล้าให้เศษอาหารกระจายตัวในใบไม้แห้ง สามารถทิ้งเศษอาหารได้ทุกวัน พอใบแห้งไม้ยุบก็เติมให้สูงกว่าครึ่งภาชนะเช่นเดิม แล้วก็เติมเศษอาหารได้อีกทุกวัน ส่วนที่ยุบลงไปอยู่ด้านล้างจะย่อยเป็นปุ๋ยก่อนนำไปใช้ประโยชน์เป็นดินปลูกผักและพืชสมุนไพรปลอดสารพิษได้ หมักน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ เศษผัก เปลือกผลไม้ที่ยังไม่บูดเน่า คัดแยกไว้แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปหมักน้ำชีวภาพ ผสมน้ำรดตันไม้ ผัก สมุนไพร หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่นใช้ล้างทำความสะอาดพื้น เช็ดกระจก สเปรย์ฉีดพ่นดับกลิ่นอับในรถยนต์ ในตู้เสื้อผ้า ในห้องนอน หรือนำไปเทลงโถส้วมแก้ปัญหาส้วมเต็มได้ หรือนำไปผสมกับ N70 และเกลือทำน้ำยาเอนกประสงค์ใช้ในครัวเรือนหรือพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ รายละเอียดสามารถค้นหาอ่านในเว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อม หรือดาวน์โหลดคู่มือไปอ่านกันได้ เลี้ยงสัตว์ เศษอาหาร จากโรงอาหารใหญ่ๆ คัดแยกไว้ส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสุกร ปลา เศษผักเปลือกผลไม้ที่มีปริมาณมากๆ ก็คัดแยกไว้ให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ ได้ ถ้ามีปริมาณน้อยนำไปหมักน้ำชีวภาพใช้ในบ้านดีกว่า ส่วนเศษอาหารที่ทานหรือก็นำไปเลี้ยงสุนัขหรือเป็ดไก่ในบ้านก็ได้ ถ้าไม่มีเป็ดไก่ก็นำไปคลุกเคล้ากับใบไม้แห้งทำปุ๋ยหมักไว้ปลูกต้นไม้ก็ได้ หมักแก๊สชีวภาพหรือไบโอแก๊ส เศษอาหาร เช่นข้าว ผักต่างๆ หรือมูลสัตว์ นำไปใช้ประโยชน์โดยหมักทำแก๊สชีวภาพได้ แก๊สที่ได้นำมาใช้กับเตาแก๊สหุงต้มก็ได้ หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟผลิตกระแสไฟฟ้าได้ คุณค่าของขยะอินทรีย์นั้นมีมากมาย เพียงนำมาใช้ประโยชน์ก่อนที่มันจะเน่าเสีย และคัดแยกไว้เป็นประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ หากบ้านเรือน ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจต่างๆ ตระหนักและห่วงใยสิ่งแวดล้อม และร่วมกันจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนและดูแลรักษาแหล่งน้ำลำคลอง ถนนทางเดินให้สะอาด จะนำมาซึ่งความน่าอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดี นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ ให้เข้ามามีบทบาทในการใช้ประโยชน์จากขยะของของตนเองก่อนทิ้งให้มากขึ้น เปลี่ยนขยะเป็นเงินหรือทรัพยากรก่อนที่จะขนไปฝังกลบหรือกำจัด เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ลดงบประมาณการเก็บรวบรวม ขนส่งและกำจัดได้อย่างมหาศาล เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครสีเขียว และเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ กับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ