กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ชมรมสื่อท่องเที่ยว
วันนี้พวกเราชมรมสื่อท่องเที่ยวเดินทางสู่จังหวัดแพร่อีกครั้ง เพื่อร่วมงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ประจำปี 2557” ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ด้วยคำเชื้อเชิญจากคุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่
พวกเราออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อไปถึงจังหวัดแพร่ก็เป็นเวลาเย็นพอดี จึงเข้าโรงแรมภูมิไทย การ์เด้นที่พัก หลังเก็บสัมภาระ ล้างหน้าล้างตาจนสดชื่น พอดีวันนี้ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งวันเสาร์จะมีกาดกองเก่าชุมชนพระนอน พวกเราจึงไปเดินเล่นกันที่กาดกองเก่าชุมชนพระนอน เป็นตลาดขายของที่เกิดจากรวมใจของคนในชุมชนพระนอน เริ่มจากหน้าชุมชนวัดพระนอน ที่สี่แยกบ้านวงศ์บุรี ไปตามถนนคำลือ จนถึงแยกตัดกับถนนรอบเมือง เป็นแหล่งช้อป-กิน-เที่ยว ขายสินค้าพื้นเมือง นับว่าเป็นตลาดเก่าแก่ที่ยังคงมีเสน่ห์และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ช้อป ชิมกันจนเพลิน ก็เดินทางไปทานอาหารเย็นแบบขันโตกที่บ้านวงศ์บุรี พร้อมชมการแสดงพื้นบ้าน
เช้าวันใหม่พวกเราก็นั่งรถรางชมเมืองแป้ แห่ระเบิด รถรางเริ่มล้อหมุนโดยนำพาเราไปที่วัดหัวข่วง เมื่อเดินชมภายในวัดเราจะเห็นพระอุโบสถแบบล้านนา และพระธาตุวัดหัวข่วง ที่มีความเก่าแก่ มีลักษณะเดียวกันกับพระธาตุหริกุญชัย เป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีสิ่งลึกลับมหัศจรรย์เกิดขึ้น โดยปรากฏมีดวงแก้วออกมาจากยอดพระธาตุเจดีย์ส่องแสงสว่าง มีขนาดเป็นรูปทรงกลมเท่าผมส้ม เปล่งรัศมีสุกใสสีส้มแกมสีเขียวมรกตดังสีพระจันทร์ทรงกรด แสงสุกใสดังกล่าวมักจะมีปรากฏให้เห็นช่วงเวลาใกล้วันสำคัญของพระพุทธศาสนา
ชมความเก่าแก่แล้ว ก็เดินทางต่อไปที่วัดศรีชุม เมื่อเข้าไปภายในเราจะเห็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ลักษณะทรงปราสาทยอดทรงระฆังแบบล้านนา ด้านบนมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับยืน และเมื่อพวกเราเดินเข้าไปในพระอุโบสถสถาปัตยกรรมสมัยเชียงแสน เราจะเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสนพระประธานที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ส่วนในวิหารจะเป็นพระยืนปางถวายเนตรที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดแพร่ และพระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัยสมัยเชียงแสนผสมล้านนา
จากนั้นก็นั่งรถรางสู่คุ้มเจ้าหลวง คุ้มนี้สร้างขึ้น โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เป็นอาคารสถาปัตยกรรมทรงไทยผสมยุโรป สร้างด้วยอิฐถือปูน 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง มีลวดลายแกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม หน้าต่าง และประตูสวยงาม ที่ชั้นล่างใช้เป็นที่คุมขังทาสบริวารที่ทำผิดร้ายแรงและผู้ที่มีความผิดขั้นลหุโทษ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อเดินเข้าไปชมภายใน เราจะเห็นข้าวของเครื่องใช้โบราณที่ใช้ในสมัยนั้น
ชมของโบราณจนพอใจ ก็นั่งรถรางไปยังวัดหลวง เมื่อเดินเข้าไปในวิหารหลวงพลนคร วิหารเก่าแก่ที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ เราจะเห็นพระเจ้าแสนหลวง พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับนั่งปางสมาธิศิลปะล้านนาผสมกับสุโขทัย ด้านหลังของวิหารเป็นที่ตั้งของพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสนที่ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี นอกจากนี้ภายในวัดยังมีประตูโขง ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของเจ้าเมืองแพร่, พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ และหอวัฒนธรรม เมืองแพร่ เป็นอาคารไม้สักที่รวบรวมศิลปะพื้นบ้าน รวมทั้งคุ้มพระลอ
ตามด้วยวัดพระนอน วัดนี้เป็นวัดที่มีอายุนับพันปี สร้างด้วยศิลปะแบบผสมผสานถึงสามยุคคือ เชียงแสน สุโขทัย และอยุธยาตอนปลาย เมื่อเดินชมภายในวัด เราจะเห็นอุโบสถซึ่งสร้างแบบสมัยเชียงแสนไม่มีการเจาะหน้าต่างแต่ทำผนังเป็นช่องแสงแทน สำหรับลวดลายหน้านั้นเป็นลวดลายแบบอยุธยาตอนปลายผูกเป็นลายก้านขดและมีภาพรามเกียรติ์ประกอบ ด้านหลังอุโบสถ เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงระฆังคว่ำรูป 8 เหลี่ยม มีประพุทธรูปอยู่ 4 ด้าน ส่วนวิหารมีการตกแต่งบริเวณชายคาเป็นไม้ฉลุโดยรอบและหลังคาประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปพระยานาคบริเวณหน้าจั่ว และพระพุทธรูปนอนปางสีหไสยาสน์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น มีความยาว 5 เมตร ลงรักปิดทองตลอดองค์
จากนั้นก็เดินทางสู่วัดพระธาตุจอมแจ้ง เมื่อเดินภายในวัดเราจะเห็นพระธาตุจอมแจ้ง เป็นพระธาตุเจดีย์สีทองรูปทรงพระธาตุคล้ายกับพระธาตุช่อแฮ ทรงพุ่มศิลปผสมระหว่างสุโขทัยกับศิลปเวียงโกศัย บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า ข้างๆ พระธาตุมีพระพุทธรูปยืนปางพระนาคปรกขนาดใหญ่ และภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อจอมแจ้ง พระประธานซึ่งมีอายุประมาณ 600 กว่าปี นอกจากนี้ที่ด้านหลังยังมีองค์พระธาตุอันเก่าแก่อีกองค์หนึ่งซึ่งไม่ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ยังคงไว้ในรูปแบบของการก่อสร้างด้วยอิฐ ส่วนที่สวนลานปฏิบัติธรรมซ้ายมือของทางเข้าประตูวัด จะมีพระนอนปางไสยาสน์องค์ขนาดใหญ่
แล้วก็ได้เวลาเดินทางสู่วัดพระธาตุช่อแฮ เพื่อร่วมงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ แห่ตุงหลวง 2557 ผมและเพื่อนๆ ไม่รอช้าให้เสียเวลา รีบคว้ากล้องคู่ใจเดินไปยังขบวนแห่ทันที แล้วก็กดชัตเตอร์เก็บภาพขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่อลังการ ตระการตา สวยงาม เป็นขบวนสักการะย้อนยุคพื้นเมืองโบราณล้านนา นำด้วยริ้วขบวนเครื่องสักการะ ขบวนตุงหลวง และตุงบริวาร ตามติดด้วยขบวนขันธ์ทั้ง 5 อันประกอบไปด้วยช้าง เริ่มด้วยช้างเจ้าหลวง มีนายอภิชาต โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นั่ง ตามด้วยช้างเจ้าอุปราช ช้างเจ้าราชวงศ์ ช้างเจ้าบุรีรัตน์ และเครื่องบรรณาการ ต่อด้วยขบวนม้า ขบวนสามล้อของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขบวนผ้าแพรคลุม พระธาตุ 12 ราศี ขบวนเศวตพานพุ่ม ขบวนเทพีโปรยข้าวตอกดอกไม้ ขบวนผู้อาวุโสแต่งกายชุดไทยล้านนา ขบวนแห่ กังสดาล ขบวนแห่หมากเป็ง ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ต้นผึ้งหรือต้นเทียน ต้นดอก ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ขบวนตุง ขบวนฟ้อนรำ ขบวนสักการะแบบล้านนาของ 8 อำเภอ ขบวนการฟ้อนรำ ปิดท้ายด้วยขบวนฟ้อนกลองอืดที่สร้างความฮือฮาด้วยตัวหุ่นนางรำสูงใหญ่ที่ควบคุมด้วยคนเข็น ช่างเป็นขบวนแห่ที่อลังการ สวยงามประทับใจพวกเราจริงๆ เดินถ่ายภาพกันจนหมดแรง ก็ได้เวลาทานอาหารเย็นเพิ่มพลังที่ร้านระเบียงบึง ตบท้ายที่จะเดินทางสู่ประตูชัย ห้องรับรองยามค่ำคืนของเมืองแพร่ ที่มีอาหารและขนมอร่อย ก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับถึงกรุงเทพ ฯ โดยสวัสดิภาพ