กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
ถึงเวลาชัตดาวน์ "ไบโพลาร์"
โดย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์
ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
หากถูกตั้งคำถามว่าเคยรู้จัก “โรคอารมณ์แปรปรวน” บ้างหรือไม่ หลายคนอาจบอกอย่างติดตลกว่ารู้จัก เพราะเห็นจากคนใกล้ตัวที่มีอาการอารมณ์ขึ้นๆลงๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคอารมณ์แปรปรวน หรือที่รู้จักกันในนาม “ไบโพลาร์” นั้นไม่ใช่เรื่องที่เราควรมองข้าม เพราะโรคนี้นับเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นฆ่าตัวตายเลยทีเดียว แต่หากเรารู้จักเข้าใจโรคนี้ก็สามารถมีหนทางรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า โรคอารมณ์แปรปรวน หรือ ไบโพลาร์นั้น อาจมีปัจจัยมาจากวิกฤตชีวิต เช่น สูญเสียคนที่รัก ตกงาน เจ็บป่วย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคชนิดนี้ เพราะไบโพลาร์ เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก เมื่อคนกลุ่มนี้เจอมรสุมชีวิตจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วๆไป โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะเริ่มปรากฏอาการเมื่ออายุประมาณ 25 ปี ขึ้นไป อาการคุ้มดีคุ้มร้ายที่แสดงออกให้เห็นคือ ภาวะสองขั้วที่แยกเป็น ภาวะแมเนีย(Manic Episode) จะมีอารมณ์ดี สนุกสนาน คึกคักเกินเหตุ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ความคิดเล่น ขยันสุดๆ ชอบพูด ชอบคุย พูดเสียงดัง บ้าพลัง แต่งตัวสีสันฉูดฉาด ช้อปปิ้งกระจาย คิดเร็ว ทำเร็ว หรือฉุนเฉียว ก้าวร้าว และภาวะซึมเศร้า(Depressive Episode) ที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าคิดตัดสินใจ ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง อ่อนเพลีย ป่วยบ่อยๆ แต่หาสาเหตุไม่เจอ เก็บตัว ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หมดหวังกับชีวิต ผู้ป่วยแต่ละรายนั้น อาจเกิดภาวะใดภาวะหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อยู่ๆเกิดอาการแมเนีย 2-3 สัปดาห์ แล้วหาย หลังจากนั้น 10 ปี ถึงมาเป็นอีกครั้งก็ได้ สลับกับช่วงที่ซึมเศร้าเก็บตัว หรือบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้าติดต่อกันหลายๆรอบ โดยอาจกลับมาเป็นปกติช่วงสั้นๆ แล้วสลับมาเป็นแมเนีย โดยอาจจะสังเกตจากพื้นฐานพฤติกรรม เช่น ถ้าเคยเป็นคนเรียนร้อย มีเหตุมีผลแล้วกลายเป็น คนแต่งตัวเปรี้ยว พูดเก่ง เกรี้ยวกราด หรือจากคนที่พูดเก่ง ชอบทำงาน ชอบสังคม กลายเป็นคนซึมเศร้า ไม่อยากลุกจากที่นอน นอนดูเพดานได้เป็นชั่วโมงๆ เบื่อสังคม ขาดงานบ่อย ไม่ดูแลตัวเอง หรือป่วยไม่เจอสาเหตุ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าป่วย และพาไปพบแพทย์ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ
“โรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ เช่น ในภาวะซึมเศร้า สารสื่อประสาทที่ชื่อว่า serotonin ต่ำ ยกตัวอย่างง่ายๆ สมองเรามี serotonin เหมือนน้ำอยู่ในภาชนะ ด้านบนมีก๊อกที่ผลิตสารนี้ใส่ภาชนะ แต่อยู่ๆ ก๊อกนี้เกิดสนิม แถมภาชนะยังรั่วอีก จนน้ำหายไปหมดก็จะเกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งรักษาได้โดยการให้ยาเพื่อไปไขก๊อกที่เป็นสนิม ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ รวมถึงอุดรอยรั่ว โดยทั่วไปการรับประทานยาประมาณ 2 สัปดาห์จะช่วยให้อาการเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่การเติมน้ำกลับเข้าไปต้องใช้เวลานาน ดังนั้น แม้อาการจะดีขึ้นแต่ก็หยุดยาไม่ได้ต้องรักษาต่อเนื่อง 2-5 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องครบถ้วน โรคนี้ก็สามารถรักษาหายได้”
แต่อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัยชี้ว่า ไบโพลาร์สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีกุญแจสำคัญที่สุด คือ คนใกล้ชิดควรเตรียมตัวและครอบครัวให้เข้มแข็งหรือที่เรียกว่า วัคซีนใจ ด้วยการดูแลให้มีสุขภาพจิตที่ดีศึกษาข้อมูล เรียนรู้ดูแลกัน และอย่ารีรอที่จะปรึกษาจิตแพทย์ เพราะอาการของโรคนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยยาและทำจิตบำบัดควบคู่กัน ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ เพียงแต่สังคมต้องให้โอกาส นอกจากนี้สิ่งสำคัญ 3 ประการที่้ต้องคำนึงถึงคือ ไบโพลาร์เป็นการป่วย ไม่ใช่นิสัยไม่ดี, ไบโพลาร์สามารถรักษาได้ และเมื่อรักษาแล้ว สามารถกลับเป็นคนดี คนเก่ง และกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขได้ พญ.อภิสมัยทิ้งท้าย