กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกวุฒิสภา
หลังนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายกรมพลังงานทหารทำงานร่วมกับทางจังหวัดส่งเสริมการปลูกพืชการเกษตรแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ด้าน ส.ว. วิบูลย์ ประธาน กมธ.พลังงาน วุฒิสภา แนะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
17 มี.ค. 57 สืบเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับพลังงานทดแทนที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 57 ที่ผ่านมา โดยได้แสดงความห่วงใยต่อแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติที่นำมาผลิตเป็นน้ำมัน โดยได้มอบนโยบายให้กรมพลังงานทหารทำงานร่วมกับทางจังหวัดส่งเสริมการปลูกพืชการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน หญ้าเนเปีย และใบสนมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ทดแทนการใช้แหล่งน้ำมันตามธรรมชาติ และช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการเพาะปลูกสินค้าเกษตร โดยให้จัดทำเกษตรโซนนิ่งเรื่องพืชพลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ สร้างรายได้ให้ประชาชน รวมถึงทำเป็นศูนย์กลางในการแปรรูปขยะมูลฝอยต่าง ๆ นำขยะทั่วประเทศมาแปรรูปเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน และนำเอาเศษซากพืชการเกษตรมาแปรรูปด้วย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการเผาทำลาย และปัญหาหมอกควันนั้น
นายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้แสดงความเห็นว่าพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนทั้งหลายทางคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ได้ติดตามศึกษามาโดยตลอด โดยในความเห็นส่วนตนแล้วที่น่าจะทำจริงๆ และแก้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยก็คือพลังงานไฟฟ้าจากขยะและน้ำเสียจากโรงงานซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรม โดยขณะนี้หลายแห่งก็มีการทำกันอยู่แล้ว
ซึ่งหากจะทำจากวัตถุดิบใหม่มาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าก็อาจจะมีการลงทุนที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ถ้าหากจะให้ได้ประโยชน์หลายๆ ด้านอาจจะลองหันมาดูสิ่งเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย เช่น น้ำเสียจากกระบวนการอุตสาหกรรมและขยะต่างๆ
ส.ว. วิบูลย์ ยังกล่าวต่อไปว่าในด้านนโยบายแม้รัฐบาลจะมีการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนมาตลอดแต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาตต่างๆ ของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีความยุ่งยาก ใช้ระยะเวลานาน รวมทั้งการปฏิบัติที่ยังขาดการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่นโรงงานแห่งหนึ่งที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) และเมื่อได้รับการอนุมัติจาก สนพ. แล้วผู้ลงทุนได้เริ่มดำเนินการตามเงื่อนไขของ สนพ. ก่อสร้างไฟฟ้าและพร้อมที่จะจ่ายไฟเข้าระบบ แต่ท้ายสุดกลับพบว่าระบบรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าในเขตนั้นเต็ม ไม่สามารถที่จะรับไฟเข้าไปได้อีก เป็นต้น
รวมทั้งปัญหาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (แบบ ร.ง.4) ที่มีขั้นตอนการขอยุ่งยากผู้ลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนต้องประสบปัญหาต่างๆ ทั้งความล่าช้าและขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนประกอบกิจการพลังงานทดแทน
ทั้งนี้ ส.ว.วิบูลย์ มองว่าแม้นโยบายด้านนี้ของประเทศไทยจะมองว่าดีแล้ว แต่ในภาคปฏิบัติยังขาดการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ การประสานงานกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังทำได้ไม่ค่อยดีมากนัก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศ
อนึ่งในวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2557 นี้ คณะกรรมาธิการการพลังงานจะมีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียน "กรณีปัญหาขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า" โดยเชิญผู้ร้องเรียน ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว.