กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
ผอ.TCELS เผยผลสำเร็จจากการประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-สหรัฐ ระบุสถาบันมะเร็งสหรัฐสนใจร่วมมือศึกษาการกลายพันธุ์เซลล์มะเร็งกับศูนย์จีโนมทางการแพทย์ของ รพ.รามาฯที่ TCELS ให้การสนับสนุน พร้อมนำเสนอบัตรเภสัชพันธุศาสตร์คัดกรองยีนแพ้ยา หลังสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ของอเมริกาสนใจ หวังขยายผลสู่คนทั่วโลก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) พร้อมด้วย ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมเดินทางสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไทยสหรัฐ (US-Thailand joint Committee Meeting on Science and Technology) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 8-14 มีนาคม 2557
สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับสหรัฐด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 โดย เป็นการกำหนดกรอบและแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ สาขาความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงฯ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วัสดุศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ การรักษาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ชีววิทยาศาสตร์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยจะจัดให้มีการประชุมกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2558 ที่ประเทศไทย
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS เปิดเผยว่า TCELS ในฐานะรับผิดชอบงานชีววิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCI) และพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน พร้อมประสานความร่วมมือในอนาคต โดยเฉพาะสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ เป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยเฉพาะด้านของสถาบันสาธารณสุขฯ ในโครงการวิจัยร่วมด้านการบำบัดมะเร็งด้วยการให้ยาซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเป้าหมาย ถือเป็นการต่อสู้กับมะเร็งอย่างตรงจุดและส่งผลต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้เคมีบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการตอบสนองต่อตัวยาดีขึ้น ยืดอายุของผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากยาหลายชนิดอยู่ในรูปแบบรับประทาน ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องเข้าออกโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงกับเซลล์มะเร็งเป้าหมาย จำเป็นต้องทำการตรวจยืนยันจากทางห้องปฏิบัติการก่อนว่าเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยรายนั้นมีตำแหน่งการกลายพันธุ์บนยีนเหมาะสมกับการใช้ยาประเภทนั้นหรือไม่
“ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะมีความร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ ในการศึกษาหาตำแหน่งการกลายพันธุ์บนยีนของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี เซลล์มะเร็งของหู คอ จมูก และเซลล์มะเร็งโพรงหลังจมูก เพื่อหายาซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเป้าหมายมารักษาคนไข้มะเร็งกลุ่มนี้” ดร.นเรศ กล่าว
ผอ.TCELS กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการประสานความร่วมมือด้านจีโนมทางการแพทย์ด้วย โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ (National Human Genome Research Institute : NHGRI) ได้จัดประชุมด้านจีโนมทางการแพทย์ซึ่งมีผู้แทนจาก 25 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม โดยประเทศไทย ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมมนุษย์ ภายใต้โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่ง TCELS ให้การสนับสนุน เข้าร่วมประชุมด้วย และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานร่วมในกลุ่มทำงานด้านเภสัชพันธุศาสตร์ โดยงานลำดับแรกจะมุ่งเน้นที่จะลดอุบัติการณ์การเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงแบบสตีเวนส์-จอห์นสันซินโดรม ซึ่งทางสถาบัน NHGRI สนใจบัตรเภสัชพันธุศาสตร์ของไทย ที่สามารถระบุยีนแพ้ยาของคนไข้แต่ละราย ขณะเดียวกันคณะทำงานระดับโลกด้านจีโนมทางการแพทย์ก็มีความสนใจที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละประเทศทั่วโลกด้วย ซึ่งกรอบความร่วมมือไทย-สหรัฐในครั้งนี้น่าจะทำให้ประเทศไทยแสดงบทบาทที่เด่นชัดในด้านจีโนมทางการแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น
ท้ายนี้ TCELS ยังได้ประสานกับสถาบันสมิธโซเนียนเพื่อนำนิทรรศการจีโนม ปลดล็อครหัสชีวิต ซึ่งขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสมิธโซเนียนด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติ มาแสดงที่ประเทศไทย โดยนิทรรศการดังกล่าวใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สื่อการสอนชั้นสูง ช่วยให้ผู้เข้าชมไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์และบุคคลทั่วไป ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของดีเอ็นเอในอดีต การปฏิวัติด้านจีโนมมนุษย์และการนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ได้อย่างชัดเจนในเวลาจำกัด โดยหากมีแนวโน้มจะนำมาแสดงในประเทศไทยได้จริง TCELS จะประสานกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้มีการแปลเนื้อหาและสื่อการสอนบางส่วนเป็นภาษาไทยพร้อมเชิญนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยมาร่วมกิจกรรมและยกตัวอย่างความสำเร็จของศาสตร์จีโนมที่นำมาใช้ทางการแพทย์ในไทยด้วย ผอ.TCELS กล่าว