กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เวทีวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ เตือนอนาคตการค้าเสรีอาจกระทบระบบสุขภาพ ทั้งราคายาและบริการสาธารณสุข ดร.ศิรินาแนะนำทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือผลได้เสียให้ชัดเจน โดยใช้ประโยชน์ประเทศเป็นตัวตั้ง ก่อนลงนามข้อผูกพันพร้อมใช้กลไก คจ.คส. เป็นเวทีสร้างความเข้าใจร่วมกันบนฐานความรู้และข้อเท็จจริง
ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจ.คส. หรือ NCITHS) เป็นประธานการประชุมวิชาการ “การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ” เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข
ดร.ศิรินา ประธาน คจ.คส. กล่าวว่า การเจรจาการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี มีประโยชน์ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ก็อาจะมีผลกระทบต่อ “สุขภาวะ” ของคนไทยด้วยกันเช่น โดยเฉพาะมาตรการลดภาษีในสินค้าทำลายสุขภาพ อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ รวมถึงการขยายสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยารักษาโรค และการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการแพทย์ข้ามชาติ ซึ่งล้วนทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการให้บริการทางสาธารณสุขได้ ดังนั้น คจ.คส.จึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยและค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเจรจาการค้า ทั้งจากประสบการณ์ในต่างประเทศ และในประเทศเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาได้พิจารณาทั้งผลกระทบทางด้านบวกและลบต่อสุขภาพ โดยเวทีวิชาการที่จัดขึ้น เป็นตัวอย่างของเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมองของผู้มีส่วนได้เสียก่อนพิจารณาไปสู่การกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างรอบคอบต่อไป
ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประทานมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในฐานระประธานอนุกรรมการจัดการประชุมกล่าวว่า ประเทศไทยควรใช้การเจตจาการค้าเสรี เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวม ไม่ใช่เพียงภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง การระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายไม่ควรแยกกันคิด แยกเสนอ และขัดแย้งกันเองภายในประเทศ แต่ต้องสนับสนุนให้เกิดกลไกหรือเวทีประสานงานในรูปแบบต่างๆ เช่น คจ.คส. ซึ่งมีผู้แทนจากภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา อย. ผู้แทนภาคธุรกิจ ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชน เช่น เอฟทีเอวอช รวมถึงนักวิชาการเช่น ทีดีอาร์ไอ ที่ได้ร่วมหารือกันอย่างต่อเนื่องผ่านการวิจัยบนหลักฐานเชิงประจักษ์มาตลอด 3 ปี ที่ก่อตั้งมาส่วนใดที่เห็นตรงกันก็เสนอต่อคณะผู้แทนเจรจาของไทยได้ ส่วนใดที่ยังเห็นต่างก็ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและหารือกันต่อไป
นพ.สุวิทย์ ยังระบุว่า กรณีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) นั้นพบว่ามีทิศทางให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าที่กำหนดไว้ในกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) จึงอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลประโยชน์สาธารณะทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และการเข้าถึงยาได้ นอกจากนั้นยังอาจเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกระบวนการนโยบายรัฐ และมีสิทธิฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐด้วย ดังนั้นประเทศไทยไม่ควรยอมรับข้อผูกพันที่มากเกินกว่าข้อตกลงตามกรอบ WTO เช่น ทริปพลัส และควรเตรียมความพร้อมเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนและฝ่ายนโยบายด้วย
นอกจากการเร่งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศ เพื่อรองรับผลกระทบในอนาคตแล้ว ยังควรเร่งวางแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อรองรับความต้องการบริการทางการแพทย์ในอนาคต จากปัจจัยการเปิดการค้าเสรี นโยบายเมดิคัลฮับและโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรวิชาชีพควรกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกภาพด้วย ทั้งนี้ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม พ.ศ.2557 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ จะมีการนำระเบียบวาระ “การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (ปี 2554) การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ” เข้าสู่การพิจารณาด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันกำหนดแนวทางประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอย่างรอบคอบมากที่สุด