กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--อิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง
หากกล่าวถึงกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก สำหรับนักท่องเที่ยวหรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่เลือกเข้ามาทำงานในภูมิภาคเอเชียเองต่างก็ยกย่องให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ลำดับต้นๆของเอเชีย เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง กรุงเทพก็ขาดบางแง่มุมของความเป็นเอเชียไปไม่มากก็น้อย ผลพลอยได้ของการเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีให้กับคนจำนวนมาก หากแต่นี่อาจเป็นผลเสียสำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ภายในกรุงเทพฯก็เป็นได้?
บริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง เป็นบริษัทวิจัยการตลาดเพียงบริษัทเดียวที่บริหารโดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการลงทุน ได้ทำการสำรวจในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557พบว่า ผู้อยู่อาศัยภายในกรุงเทพฯนั้น จำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อสินค้าบางประเภทในราคาที่ไม่เหมาะสมกับรายได้พื้นฐาน และมีค่าใช้จ่ายในการรับบริการหรือได้รับคุณภาพของสินค้าที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับมาตรฐานของประเทศอื่นๆ
จากการศึกษาของ อิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง พบว่า คนไทยจำเป็นต้องจ่ายประมาณ 3.50 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 115.5 บาท) เพื่อกาแฟคาปูชิโน่ของสตาร์บัค ในขณะที่คนที่โตเกียวจ่ายมากกว่าเพียง 50 เซนต์ (ประมาณ 16.75 บาท) ทั้งๆที่รายได้ของคนในโตเกียวนั้นสูงกว่าคนในกรุงเทพฯมากนัก กาแฟหนี่งแก้วที่โตเกียวนั้นถือว่าเป็น 0.13% ของรายได้เฉลี่ยในขณะที่คนในกรุงเทพฯต้องจ่ายมากถึง 0.73%
หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกับเศรฐกิจของประเทศอย่างมาก และเมื่อตรวจสอบดูกลับพบว่าสมรรถภาพของสัญญาณอินเตอร์เน็ตสำหรับคนภายในกรุงเทพฯนั้นยังคงล้าหลังกว่าหลายประเทศรวมถึงฮ่องกง จากการศึกษาพบว่าแพคเก็จอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯอยู่ที่ 200 Mbps ซึ่งค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 300 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 10,050 บาท) กลุ่มคนที่ใช้แพคเก็จดังกล่าวอยู่คงจะไม่พอใจเมื่อทราบว่าในฮ่องกงนั้นจ่ายเพียงหนึ่งในสามเท่าของราคาในกรุงเทพฯ สำหรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงถึงห้าเท่า (1,000 Mbps) ตามราคาดังกล่าวคนในกรุงเทพฯจ่ายสูงถึง 67% ของรายได้เฉลี่ยเทียบกับคนในฮ่องกงที่จ่ายเพียงแค่ 5% เท่านั้น
ข้อมูลของ อิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง ยังเปิดเผยอีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนิวยอร์คซิตี้ คนในกรุงเทพฯใช้จ่ายในราคาที่ไม่เหมาะสมกับรายได้เฉลี่ยของตัวเองในแต่ละเดือนให้กับสินค้าหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นห้องพักในโรงแรมฮิลตัน, เสื้อผ้าสตรีของซาร่า, อาหารอย่างเคเอฟซี, รองเท้าวิ่งของไนกี้, ค่าสมาชิกฟิตเนส หรือแม้ขนาดยางรถยนต์
มร. คอลิน คิงฮอร์น, หัวหน้าบริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง ประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า จากผลวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในโตเกียว นิวยอร์ก ซิดนีย์ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ มีไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่คล้ายกันในด้านความต้องการของผู้บริโภค แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ ต้องการมีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายคลึงกับผู้คนในเมืองใหญ่อื่นๆ ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน เราจึงควรตั้งคำถามว่า กรุงเทพฯแพงเกินไป หรือว่ารายได้โดยเฉลี่ยของคนกรุงน้อยเกินกว่าที่จะเราจะสามารถมีไลฟ์สไตล์ในระดับเดียวกับคนในเมืองอื่นกันแน่"
“อำนาจการซื้อสินค้าและบริการของคนกรุงเทพฯ น้อยกว่าอำนาจซื้อของคนในเมืองมหานครอื่นๆ มาก ชาวต่างชาติที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวหรือมาทำงานในกรุงเทพฯ มองว่าพวกเขาสามารถซื้อสินค้าและบริการในกรุงเทพฯ ที่เหมือนกับที่เขาสามารถหาซื้อได้ในบ้านของตน แต่กลับจ่ายในราคาที่นับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้ของเขา ซึ่งแนวทางการแก้ไขเรื่องดังกล่าว อาจจะต้องอาศัยหลายปัจจัย เช่นด้านภาษี ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพและผลิตภาพของประชากรในประเทศเองด้วย” มร. คอลิน กล่าวเสริม
ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นในความคิดของคนไทยในกรุงเทพฯว่า “กรุงเทพฯนั้นเป็นเมืองที่ค่าครองชีพถูกพอที่จะอยู่อาศัยสำหรับคนไทยที่มีรายได้เฉลี่ยตามฐานเงินเดือนของคนในประเทศหรือไม่”