กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยใน ปี 2557 นั้นเห็นว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่รุนแรง และสามารถจบได้ภายใน 6 เดือน รวมทั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 2-3%
แต่หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้คาดว่า เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำกว่านี้แน่นอน และหากมีสถานการณ์รุนแรง ยาวนานมากกว่า 1 เดือน มองว่า GDP Growth น่าจะอยู่ที่ 0% ถึง -2% ในด้านการท่องเที่ยว มีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3% หรือประมาณ 27.5 ล้านคน แต่ในเดือนมกราคม 2557 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพียง 0.06% ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงธุรกิจต่อเนื่องกับการท่องเที่ยวด้วย เช่น โรงแรม สปา สินค้าที่ระลึก และธุรกิจรถเช่า เป็นต้น ซึ่งหากมีการยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้น
ด้านการส่งออก ถึงแม้ว่าตัวเลขการส่งออกในปี 2556 ลดลง 0.2% แต่คาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเราจะต้องเน้นให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้าชายแดน และควบคุมเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ส่วนด้านการลงทุน ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เพื่ออนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ค้างอยู่ได้ แต่คงต้องดูต่อไปว่ารัฐบาลรักษาการณ์จะจัดตั้งหรือไม่ เพราะหากล่าช้าออกไปจะได้รับผลกระทบ ทำให้การลงทุนต่างประเทศที่ค้างอยู่อาจตัดสินใจย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อนบ้านแทน
ด้านการใช้จ่ายของรัฐ คาดว่า งบประมาณปี 2558 อาจจะมีการติดขัดบ้างหากรัฐบาลใหม่มีการจัดตั้งได้ล่าช้า สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2557 จะกระทบเฉพาะงบประมาณลงทุนเพียง 30% เท่านั้นที่จะล่าช้าไป เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำอีก 70% ยังใช้ได้อยู่ ส่วนด้านความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ขณะนี้ Moody’s ยังประเมินความเชื่อมั่นของไทยไว้ที่ระดับเดิมอยู่ เพราะมองว่ายังไม่กระทบต่อโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย (Economic Structure) หากปัญหาทางการเมืองสามารถจบลงได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งเราคงจะต้องพยายามรักษาให้ความเชื่อมั่นไว้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา หอกการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจจากสถานการณ์ทางการเมือง ในกลุ่มบริษัทสมาชิกส่วนกลาง สมาคมการค้า หอการค้าจังหวัด และหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทยพบว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อภาคธุรกิจ โดยแต่ละภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ปานกลาง น้อย ไม่ได้รับผลกระทบ และได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและค่อนข้างชัดเจนที่สุด ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีการยกเลิกทัวร์
เป็นจำนวนมาก ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเซีย ได้แก่ จีน ลดลงประมาณ 50% ญี่ปุ่น ลดลง 40% เกาหลี ลดลง 30% รวมทั้งอินเดีย ไต้หวัน และเวียดนาม ส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจโรงแรม ซึ่งมียอดจองห้องพักลดลงเฉลี่ย 25-30% รวมทั้งยังกระทบภาคบริการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น สปา รถเช่า สินค้าที่ระลึก การจัดงานประชุมสัมมนาภายในประเทศ ฯลฯ สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยังคงมียอดขายอยู่ แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางหรือย่อย อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอการซื้อของผู้บริโภคและขอเลื่อนโอนกรรมสิทธิ์บ้านประมาณ 5-10% และธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่ลดลงประมาณ 15% จากการลดจำนวนเที่ยวบินของสายการบินระหว่างประเทศ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะในส่วนของเรือขนส่งน้ำมันเริ่มได้รับผลกระทบจากปริมาณเที่ยวบินที่ลดลง สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งสินค้าที่ไม่สะดวก แต่ยังไม่มีปัญหากระทบยอดการส่งออก
สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ ภาคสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ธุรกิจข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และธุรกิจประมง เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการดำเนินนโยบายของรัฐที่ผ่านมา เช่น โครงการรับจำนำข้าว และปัญหาราคาสินค้าเกษตรลดลง
นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็น SMEs ดังนั้น หอการค้าไทย จึงได้นำความคิดเห็นต่อปัญหาและข้อเสนอแนะจากการสำรวจ มาจัดทำเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย
1. ระดับยุทธศาสตร์ ได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการสำรวจ มาใช้ทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าไทย โดยจะมีการพัฒนาให้เป็น Value Chain ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพื่อให้ทราบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจากปัญหาการเมืองในประเทศของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการในแต่ละช่วงของ Value Chainได้ประสบปัญหาอะไรบ้าง มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร และธุรกิจมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อที่หอการค้าไทยและสมาชิกผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ จะให้ความช่วยเหลือกับ SMEs ใน Value Chain ได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที และเพื่อให้กลุ่มธุรกิจใน Value Chain นั้นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบของเพื่อนช่วยเพื่อน และพี่ช่วยน้อง โดยมองเป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับมาตรฐานของสินค้าไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
2. ระดับนโยบายและโครงการต่าง ๆ
- ด้านการบริโภค เนื่องจากขณะนี้การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง ทั้งจากปัญหาการขาดความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ และรายได้ของภาคการเกษตรที่ลดลง ดังนั้น หอการค้าไทยจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการหลายโครงการ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในด้านองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น กฎระเบียบทางการค้า การตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านโครงการ SMEs วิธีทำเงิน และ โครงการอบรม/สัมมนาต่าง ๆ รวมทั้ง จะช่วยเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และข่าวสารทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำข้อมูลไปพิจารณาตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
- ด้านการท่องเที่ยว ขณะนี้ Value Chain ของการท่องเที่ยว ทั้งทางด้านธุรกิจโรงแรม รถเช่า ร้านอาหาร สินค้าที่ระลึก.ฯลฯ กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางด้านการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหอการค้าไทยเห็นว่า เราคงจะต้องร่วมมือกับส่วนราชการ เพื่อช่วยกันเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดงานแสดงสินค้า และการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายออกไปอย่างทั่วถึง เนื่องจากงบประมาณในด้านนี้ของภาครัฐบาลและเอกชนยังมีอยู่มาก แต่ที่ผ่านมา
ยังมีการใช้จ่ายน้อยมาก นอกจากนั้นการที่รัฐบาลออก พรก.ฉุกเฉินทำให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวลดลงมาก สืบเนื่องจากการที่การประกันภัยการเดินทางไม่ได้ครอบคลุมถึงสถานการน์ในช่วงพรก.ฉุกเฉิน ดังนั้นหากเป็นไปได้การยกเลิก พรก.ฉุกเฉินก็จะช่วยให้ต่างชาติมั่นใจมากขึ้นในการเดินทางมาประเทศไทย
– ด้านการส่งออกและการลงทุน จะร่วมมือกับส่วนราชการเพื่อช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า
ในตลาดโลก ว่าเรายังเราสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนด และร่วมกันเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนแก่บริษัทต่างชาติ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง เร่งรัดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ
นอกจากนั้น ปัญหาด้านการส่งเสริมการลงทุน ที่ติดขัดเนื่องจากบอร์ด BOI หมดวาระลงและไม่สามารถแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังเป็นรัฐบาลรักษาการ ทางหอการค้าไทย อยากเสนอให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการจัดตั้งบอร์ดชั่วคราวขึ้นมารักษาการไปก่อน เพื่อให้การลงทุนที่ค้างอยู่สามารถดำเนินการต่อได้ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้
- ด้านการค้าชายแดน หอการค้าไทยได้จัดทำโครงการร่วมกับหอการค้าจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งการปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนในการส่งออกให้มีประสิทธิภาพ การยกระดับด่านการค้าชายแดนที่มีศักยภาพให้เป็นด่านถาวร โดยเฉพาะในพิ้นที่ที่มีความพร้อม นอกจากนั้น ยังมีโครงการส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดนด้วยการจัด Trade Fair ในจังหวัดชายแดน และการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการนำสมาชิกที่เป็น SMEs เดินทางไปในประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ โดยหอการค้าฯ จะขอความร่วมมือจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีการลงทุนอยู่แล้วในประเทศ CLMV และประเทศอาเซียน ได้ช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ในลักษณะ Supply Chain เพื่อขยายธุรกิจของไทยในตลาดต่างประเทศร่วมกัน