กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.57 ที่ห้องประชุมโรงแรมบ้านสวนรีสอร์ท อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี (สคร.7) ได้จัดประชุมการแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โรคหนอนพยาธิและพยาธิใบไม้ตับ พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานท้องถิ่นในการขับเคลื่อนและพัฒนาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โรคอาหารเป็นพิษ โรคหนอนพยาธิและพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่เสี่ยงสูงและชายแดน โดยมีนายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เป็นประธาน พร้อมด้วย ตัวแทนจากโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง องค์การบริหารส่วนตำบลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้
น.พ.ศรายุธ กล่าวว่า โรคติดต่อที่เกิดจากการบริโภคอาหารและน้ำยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการเฝ้าระวังโรคสำนักระบาดวิทยาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีหลายโรคที่มีความสำคัญ เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีอัตราป่วยเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ซึ่งแนวโน้มของการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังพบว่าโรคติดเชื้อจากปรสิตยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ หลายพื้นที่มีอัตราการตรวจพบพยาธิสูง และยังตรวจพบหนอนพยาธิและ ปรสิต ที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่สำคัญเช่น ตรวจพบความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ และพยาธิตืด สูงในประชาชนพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเฉพาะพยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิที่องค์การอนามัยโลกยอมรับและจัดให้เป็นเชื้อก่อมะเร็ง ในขณะนี้การดำเนินงานควบคุมโรคหนอนพยาธิหลายพื้นที่ถูกลดความสำคัญลงหรือหลายพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเลย แม้จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อาจกล่าวได้ว่าโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำโรคหนอนพยาธิและพยาธิใบไม้ตับยังคงมีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำเป็นโรคที่ประชาชนสามารถป้องกันได้ ด้วยการป้องกันดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำง่าย ๆ 10 ประการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ คือ 1) เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง 2) ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน 3) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ 4) หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นส่วนอาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ 5) ก่อนที่จะนำอาหารมารับประทานความอุ่นให้ร้อน 6) ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีกเพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ 7) ล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ 8) ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง 9) เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ 10) ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารกได้/น.พ.ศรายุธ กล่าว