กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต
มร. เดวิด โครูนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าแอกซ่าร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมวินาศภัย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในความร่วมมือด้านการประกันภัยอย่างยั่งยืน (Principles of Sustainable Insurance PSI) ในประเทศไทย
มร. โครูนิช กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทผู้รับประกัน ธุรกิจของเราคือ การให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนระยะยาวดังนั้น บริษัทผู้รับประกันจึงมีภาระหน้าที่ในการใช้ความรู้ ความสามารถทางธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งและมีสวัสดิภาพ กลุ่มแอกซ่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนามในหลักการการประกันภัยที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าจุดประสงค์ของโครงการนี้ตรงกับเป้าหมายด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคมของกลุ่มแอกซ่า ทั้งนี้ ในฐานะกลุ่มแอกซ่า เราเชื่อว่าการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล มีส่วนสำคัญในภาคธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยแบบองค์รวม โดยสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน และผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักการเหล่านี้ ตั้งแต่ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ และนับแต่นั้นมาได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Envionmental Programmes (UNEP) และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่ควรกระทำ”
หลักการของการประกันภัยที่ยั่งยืนมีอยู่ 4 ประการ คือ 1. บริษัทผู้รับประกันจะเชื่อมโยงประเด็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ 2. บริษัทผู้รับประกันจะร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรด้านธุรกิจทั้งมวล เพื่อยกระดับความรอบรู้เกี่ยวกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา 3.บริษัทผู้รับประกันจะร่วมมือกับรัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล และอื่นๆ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างกว้างขวาง 4. บริษัทผู้รับประกันจะแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและความโปร่งใส ด้านการเปิดเผยถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการเกี่ยวกับหลักการเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
สาระสำคัญของโครงการความร่วมมือด้านการประกันภัยอย่างยั่งยืน คือ การสร้างสังคมที่ตระหนักถึงความเสี่ยง ซึ่งธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ได้รับความไว้วางใจ และมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างสังคมที่ดี มีสวัสดิภาพ และยั่งยืน
เป้าหมายของโครงการดังกล่าวคือ การส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยทั่วโลก มีความเข้าใจที่ดีขึ้น สามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างคุณภาพและการป้องกันความเสี่ยงที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ปัจจุบันมี บริษัทประกันภัยจำนวน 42 บริษัททั่วโลกได้เข้าร่วมเป็นลงนามในโครงการนี้ พร้อมกับ 26 องค์กรที่ให้การสนับสนุน โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Envionmental Programmes (UNEP) มีเป้าหมายที่จะเชิญชวน 100 บริษัทประกันภัย และ 60 องค์กรผู้ให้การสนับสนุนเข้าร่วมลงนามภายในปีพ.ศ. 2559
มร. โครูนิช กล่าวว่า “ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากในการให้ความสำคัญด้านการประกันภัยอย่างยั่งยืนที่บริษัทในกลุ่มแอกซ่าทั่วโลกและ 3 องค์กรของแอกซ่าในประเทศไทยได้ร่วมกันส่งเสริม ผ่านการทำงานของกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต แอกซ่าประกันภัย และ แอกซ่า แอสซิสแต้นซ์ กลุ่มแอกซ่าได้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนวิจัยแอกซ่าหรือ AXA Research Fundตั้งแต่ปีพ.ศ 2551 เพื่อมุ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงเกี่ยวกับความยั่งยืนของชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม จนถึงปัจจุบันกลุ่มแอกซ่าได้ทุ่มเงินทุนกว่า 200 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในการวิจัยต่างๆที่เกิดขึ้นจนถึงปีพ.ศ. 2562 นอกจากนี้ในประเทศไทยและทั่วโลกโลก แอกซ่าได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชน CARE International เพื่อทำโครงการ Where the Rainfalls Project หรือ น้ำเปลี่ยนแปลง....ชุมชนปรับตัว และ โครงการที่ทำร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติผ่านหลักการด้านการประกันอย่างยั่งยืน เราไม่เพียงแต่ให้โอกาส แต่เรามองถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจมีต่อสภาพแวดล้อมของชุมชนของเรา และถ้าจำเป็นเราจะทำการศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานร่วมกับชุมชนเหล่านั้น จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ทั้งนี้ในปัจจุบัน “มีบริษัทผู้รับประกันจำนวนมากในเอเชียที่ยังไม่ได้ตระหนักถึงหลักการด้านการประกันภัยอย่างยั่งยืน จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทสมาชิก ที่จะร่วมในการให้การศึกษาแก่อุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย ผมหวังว่านับจากนี้ไป ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในเอเชียในการร่วมเป็นผู้ลงนามในหลักการ และแสดงจุดยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล”มร.โครูนิช กล่าว
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวทิ้งท้าย ว่า "ผมรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นบริษัทประกันต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาลในระดับสากล เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งบริษัทประกันชีวิต และประกันวินาศภัย" และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา คปภ. ได้เพิ่มความแข็งแกร่ง ด้านกฎระเบียบในเรื่องความเสี่ยงและหลักการเกี่ยวกับการประกันภัยที่ยั่งยืนเพื่อสอดรับกับเรื่องดังกล่าว