กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นหนุนรายได้รัฐบาลใกล้เคียงเป้า” โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557) สามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิทั้งสิ้น 802,873 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังใกล้เคียงกับเป้าหมาย ได้แก่ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ 16,536 และ 11,695 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 38,943 ล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษีจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ นอกจากนี้ ภาษีจากฐานการอุปโภคบริโภคที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน เนื่องจากการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อย่างไรก็ดี ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศและภาษีธุรกิจเฉพาะยังจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย
ทั้งนี้ นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถึงแม้ว่าเสถียรภาพของการเมืองในปัจจุบันอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่อเนื่องถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2557”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ 2557
และในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557)
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 147,551 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 6,846 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 802,873 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยต่ำกว่าประมาณการเพียง 4,679 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนกุมภาพันธ์ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 147,551 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,846 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.4) โดยรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี สังกัดกระทรวงการคลัง จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,484 ล้านบาท สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,343 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,452 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.6 เนื่องจากมูลค่านำเข้าที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 891 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 แต่ยังคงขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน บ่งชี้อุปสงค์ภายในประเทศยังคงมีการขยายตัว 2) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,562 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.4 เนื่องจากมีการส่งมอบรถในโครงการรถยนต์คันแรกได้เกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณ 2556 3) ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,642 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.6 สาเหตุมาจากการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และ 4) อากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,403 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 4,181 ล้านบาท หรือร้อยละ 115.5 โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรต่ำกว่าประมาณการ 4,170 ล้านบาท
2. ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 802,873 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,679 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเนื่องจากปีที่แล้วมีการนำส่งรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G จำนวน 20,873 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2555 ประกอบกับมีการใช้สิทธิส่วนใหญ่ของโครงการรถยนต์คันแรกในปีงบประมาณ 2556
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 593,238 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,057 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.2) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,510 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,096 ล้านบาทหรือร้อยละ 7.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.7) สาเหตุมาจากมูลค่าการนำเข้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศยังคงจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,586 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.1) สะท้อนการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี 2) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,282 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.8) เนื่องจากภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ และ 3) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,368 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีที่มีผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,139 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.5) เป็นผลจากธุรกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีการขยายตัว
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 168,973 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,012 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.4) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 12,701 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 40.1) สาเหตุมาจากการใช้สิทธิส่วนใหญ่ในโครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณ 2556 2) ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,987 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) เป็นผลจากการขยายเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และ 3) ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.8) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณบุหรี่ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีสุราและภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,003 และ 4,549 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.1 และ 14.9 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 30.4 และ 11.8 ตามลำดับ) เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสุราเมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 45,626 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,874 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,720 ล้านบาท ร้อยละ 16.3 เป็นผลจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมูลค่าการนำเข้า ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – มกราคม 2557) หดตัวร้อยละ 10.0 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 69,748 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,536 ล้านบาทหรือร้อยละ 31.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 95.2) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค บมจ.ท่าอากาศยานไทย บมจ.กสท. โทรคมนาคม โรงงานยาสูบ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 63,546 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,695 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 29.1) สาเหตุสำคัญมาจาก 1) การนำส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 5,929 ล้านบาท 2) การนำส่งรายได้จากค่าต่ออายุสัมปทานการผลิตปิโตรเลียมจำนวน 2,368 ล้านบาท และ 3) การนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 1,120 ล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าที่ประมาณการไว้ว่าจะนำส่งในเดือนมีนาคม 2557 สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,489 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 500 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.7)
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 109,645 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 91,930 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,420 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.3 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 17,715 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,695 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.4
2.7 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 5,712 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 829 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 6,511 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 759 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 2 งวด เป็นเงิน 16,390 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,280 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิที่สูงกว่าประมาณการ (ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้หักด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)