กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน
เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม 57) LINE ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นแชตจากญี่ปุ่นที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทยได้เปิดให้บริการโทรศัพท์เข้าเบอร์พื้นฐาน (เบอร์บ้าน) และเบอร์โทรศัพท์มือถือราคาถูกภายใต้ชื่อบริการ “LINE Call” ซึ่งในเวลานี้ระบบจะเปิดใช้งานสำหรับผู้ใช้ LINE บนระบบปฏิบัติการ Android เท่านั้น
แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะจำกัดการให้บริการใน 8 ประเทศเท่านั้น (โคลัมเบีย, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, เปรู, สเปน, อเมริกา และไทย) การเปิดให้บริการ LINE Call นับเป็นก้าวสำคัญของ LINE ในการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็น “แพล็ตฟอร์มการสื่อสารที่สมบูรณ์แบบ” และยังเป็นการวางตำแหน่งของ LINE ในสนามแข่งขันโดยตรงกับ Skype, Viber, และ Hangout ไปในทันที ซึ่งการแข่งขันนี้น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกเนื่องจาก WhatsApp ผู้ให้บริการ Chat แอพพลิเคชั่นที่เพิ่งถูก Facebook ซื้อไปก็ได้แถลงแผนการเพิ่มความสามารถการสื่อสารผ่านเสียงไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “เมื่อเรามองดูกลยุทธ์ของ LINE แล้วจะเห็นว่าการเปิดให้บริการ LINE Call นั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล โดยในปี 2555 ผู้นำตลาด Internet calling อย่าง Skype นั้นสามารถทำรายได้มากกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 8 ประเทศเริ่มต้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ LINE มากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองจากญี่ปุ่นเท่านั้น”
ในขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยได้รับประโยชน์จากทางเลือกติดต่อสื่อสารที่มีราคาถูกลงและสะดวกสบายมากขึ้น นั้น LINE Call กลับเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชัดถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสารในประเทศไทย
“รูปแบบการใช้งานบริการข้อมูลหรือ Data Service บนโทรศัพท์ไร้สายที่มีความหลากหลายและได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น เป็นสัญญาณของทั้งวิกฤติและโอกาสที่มีผลกระทบต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พื้นฐาน ว่าต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในตลาดผู้บริโภค ถึงแม้ว่า LINE call จะเป็นหนึ่งในช่องทางที่เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการโครงข่ายโทรคมนาคมสื่อสารในประเทศจากส่วนแบ่งของค่าบริการเชื่อมต่อหรือ Connection fee แต่ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่มาจากการใช้งานประเภทโทรผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ ซึ่งเป็นรายได้หลักของผู้ให้บริการตลอดมา”
“ผลสำรวจของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนพบว่าในปี 2556 ที่ผ่านมารายได้รวมจากการให้บริการโทรศัพท์ในระบบเสียงของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นโดยเฉลี่ยหดตัวลง 3.7% ในขณะที่รายได้จากการใช้ข้อมูลหรือ Data Service นั้นขยายตัวขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับปี 2555 ในส่วนของผู้ใช้บริการ”
“เราพบว่ามีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายเงินล่วงหน้าหรือ Pre-paid เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.9% ในขณะที่ผู้ใช้งานในระบบ Post-paid นั้นเพิ่มขึ้นถึง 27.8% จากปี 2555” ธีระเสริม
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างรายได้ของผู้ให้บริการนั้นเป็นเทรนด์ที่เห็นได้จากประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเซียเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท NTT Docomo ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นพบว่ารายได้เฉลี่ยจากการใช้งานโทรศัพท์ของผู้ใช้แต่ละคนลดลงถึง 40% ในช่วง 2 ปีที่ LINE เริ่มเปิดให้บริการ Voice Call นอกจากนี้ ในปี 2554 บริษัท SingTel ผู้ให้บริการรายใหญ่ในสิงคโปร์ก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของรายได้จากความนิยมของ WeChat แอพพลิเคชั่นเช่นกัน
“สิ่งที่เราได้เห็นคือเหล่าผู้ให้บริการมีความตื่นตัวและปรับโครงสร้างรายได้โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้จากบริการเสริม (OTT) และบริการเพิ่มมูลค่า Value Added Service (VAS) อื่นๆมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Start up เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ๆทั้งจากภายในและภายนอกกรอบอุตสาหกรรมโทรคมนาคม”
“ในประเทศญี่ปุ่น NTT Docomo เริ่มหารายได้จากช่องทางใหม่โดยการลงทุนในธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารเพื่อนำเอาเนื้อหามาถ่ายทอดบนโครงข่ายเป็นบริการเสริม รวมถึงให้บริการแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษแบบ real time บนโครงข่าย LTE ให้แก่สมาชิกเป็นบริการเสริม ในสิงคโปร์ผู้เล่นหลักเช่น SingTel และ StarHub ได้แยกแพ็คเกจการใช้บริการ WeChat และ WhatsApp ออกจากบริการข้อมูล (Data Service) ทั่วไป ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะจ่ายค่าบริการเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพื่อใช้บริการ Chat แอ็พทั้งสองได้แบบ Unlimited และบริษัท TelStra ในประเทศออสเตรเลียเปิดให้บริการ HD Voice ที่ให้บริการเสียงสนทนาที่คมชัดและป้องกันเสียงรบกวนเมื่อพูดคุยในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง เป็นต้น”
“สำหรับตลาดประเทศไทย ตัวแปรสำคัญสำหรับเหล่าผู้ให้บริการคือความพร้อมของระบบโครงข่าย 4G LTE ที่จะเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับรายได้จากบริการ OTT และ VAS อีกเป็นจำนวนมาก ส่วนผลตอบรับและผลกระทบจากบริการ LINE Call นั้นยังคงต้องดูกันต่อไปเนื่องจากคุณภาพและความเสถียรของการสื่อสารยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินผู้นำการให้บริการในตลาด” ธีระสรุป