กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน ก.พ.-มี.ค. พบว่าสถานการณ์การเมืองไทยยังฉุดเศรษฐกิจ ส่งผลดัชนีเศรษฐกิจติดลบเป็นเดือนที่ 8
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัท จำนวน 417 คน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2557 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีด้านเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนมีค่า -39 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้เพื่อสลายการชุมนุม การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเห็นได้ชัด และยังคาดการณ์ว่าในเดือนมีนาคม ดัชนีด้านเศรษฐกิจจะมีค่าลดลงถึง -41
พ.ร.ก. ฉุกเฉินฉุดเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยสำคัญ 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2557 ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การที่รัฐบาลนำ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาบังคับใช้ มีผลกระทบมากที่สุด 4.5 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 4.3 คะแนน การขาดแคลนแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 3.8 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของโลก 3.7 คะแนน และความต้องการของตลาดที่ลดลง 3.5 คะแนน
รายได้ลด กระทบสภาพคล่อง
ด้านดัชนีการทำธุรกิจมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงาน ซึ่งดัชนีด้านรายได้ในกุมภาพันธ์ พบว่ามีค่า -24 จุดและคาดว่าจะปรับตัวลดลงอีกเป็น -26 จุดในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทิศทางเดียวกับดัชนีทางเศรษฐกิจ ส่วนดัชนีต้นทุนจากระดับ 26 จุด คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 29 จุดในเดือนมีนาคม การที่ดัชนีต้นทุนมีค่าเป็นบวก สะท้อนให้เห็นว่า ต้นทุนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทิศทางที่ลดลงของรายได้ ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องยังคงมีค่าติดลบโดยมีค่า -10 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าจะลดลงเป็น -14 จุดในเดือนมีนาคม ดัชนีการจ้างงานมีค่าติดลบลดลงเป็น -2 จุด และคาดว่าจะมีค่าติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -4 จุดในเดือนมีนาคม
จากผลสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะงักงัน ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง อีกทั้งจากการที่รัฐบาลนำ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้นั้น นอกจากจะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย ยังส่งผลสะท้อนต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในประเทศและบรรยากาศโดยรวมในการทำธุรกิจ เห็นได้ชัดเจนจากการที่ดัชนีรายได้และดัชนีสภาพคล่องมีการปรับตัวลงลง โดยเฉพาะดัชนีสภาพคล่องที่ปรับตัวลดลงนั้น เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะจะส่งผลต่อความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป