กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 29 จังหวัด รวม 162 อำเภอ 949 ตำบล 8,465 หมู่บ้าน นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้ง สั่ง ปภ.ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดสำรวจพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ประสบภัยแล้งระดับหมู่บ้าน พร้อมตรวจสอบสถานการณ์น้ำ เพื่อจัดโซนนิ่งและกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556– 19 มีนาคม 2557 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 29 จังหวัด รวม 162 อำเภอ 949 ตำบล 8,465 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สระบุรี ชัยนาท และสมุทรปราการ ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปราจีนบุรี ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล กระบี่ และสุราษฎร์ธานี นายกรัฐมนตรี ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งจึงได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งโดยสำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ประสบภัยแล้ง |ตรวจสอบสถานการณ์น้ำ จัดโซนนิ่งพื้นที่ประสบภัยแล้งและวางมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้องเน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอต่อการใช้งานส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ให้สำรวจพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทานจัดเจ้าหน้าที่เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เกษตรกรจะได้วางแผนเพาะปลูกพืชได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย รวมถึงจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำและผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 42,470 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 60 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 18,967 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 40,667 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 จำนวน 1,803 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาตรน้ำกักเก็บรวม 11,142 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 40.75 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ เป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การได้4,446 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28.75 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป