กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล
คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในปีพ.ศ.2556 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ในไตรมาสที่ 4 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อ้างอิงจากรายงานตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยา ของฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
อุปทานคอนโดมิเนียมทั้งหมดในเมืองพัทยา ณ สิ้นปีพ.ศ.2556 อยู่ที่ประมาณ 54,650 ยูนิตสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า “มีคอนโดมิเนียมประมาณ 800 ยูนิตเท่านั้นที่สร้างเสร็จในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2556 แต่ว่าในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2556 มีประมาณ 7,100 ยูนิต ซึ่งถ้ารวมทั้งปีพ.ศ.2556 จะส่งผลให้มีจำนวนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมาในเมืองพทยา” ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อสร้าง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คอนโดมิเนียมหลายโครงการในพัทยาเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จออกไป
คอนโดมิเนียมประมาณ 9,575 ยูนิตเปิดขายในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2556 มากกว่าช่วงครึ่งแรกประมาณ 30% โดยในปีพ.ศ.2556 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายทั้งหมดประมาณ 16,978 ยูนิต ลดลงจากปีพ.ศ.2555 ประมาณ 5% แม้ว่าจะมีหย่วยงานราชการบางแห่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์หลายราย เตือนเรื่องโอเวอร์ซัพพลาย โดยเฉพาะในพื้นที่จอมเทียน สุรเชษฐ กล่าวว่า “ในปีพ.ศ.2557 จะมีคอนโดมิเนียมประมาณ 10,770 ยูนิต มีกำหนดแล้วเสร็จในพื้นที่จอมเทียน มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในเมืองพัทยา”
“ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556–2559 พื้นที่จอมเทียนจะยังเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมมากที่สุด โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับกลาง – ล่าง เนื่องจากโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมากเปิดขายในพื้นที่จอมเทียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเปิดขายในพื้นที่จอมเทียน บางโครงการมีจำนวนยูนิตมากกว่า 1,000 ยูนิต และพื้นที่จอมเทียนยังคงมีที่ดินว่างเปล่าที่มีศักยภาพเหลืออยู่รอการพัฒนาในอนาคต” สุรเชษฐ กล่าว
คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ที่เปิดขายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นคอนโดมิเนียมที่รองรับตลาดระดับกลาง – ล่าง แม้ว่าจะมีบางโครงการที่เปิดขายในราคาที่สูงแต่ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ “ผู้ซื้อหลักในตลาดเมืองพัทยามีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมที่มีราคาเหมาะสมเพื่อไว้พักผ่อนในวันหยุด ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายหาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม และมีการบริหารโครงการโดยทีมงานที่ไว้ใจได้ และที่สำคัญพัฒนาโคครงการโดยผู้ประกอบการที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ” สุรเชษฐ กล่าว
อัตราการขายเฉลี่ยในทุกทำเล ณ ครึ่งหลบังปีพ.ศ.2556 อยู่ที่ประมาณ 71% น้อยกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีพ.ศ.2556 ประมาณ 5% เพราะว่ามีคอนโดมิเนียมจำนวนมากเปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2556 ในขณะที่ผู้ซื้อทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติล้วนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2556 โดยผู้ซื้อเลือกที่จะชะลอการตัดสินใจออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
สุรเชษฐ ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติในเมืองพัทยาว่า “ผู้ประกอบการไทยหลายรายประสบปัญหาในการขายให้กับชาวต่างชาติในพัทยา แม้ว่าพวกเขาจะมีความน่าเชื่อถือในตลาดกรุงเทพมหานคร แต่กับตลาดชาวต่างชาตินั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ชาวต่างชาติส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรับรู้ความมีชื่อเสียงของผู้ประกอบการรายใหญ่ อีกทั้งรูปแบบการขายก็ไม่ค่อยประนีประนอมกับชาวต่างชาติ ซึ่งการจะประสบความสำเร็จในตลาดพัทยาได้นั้นไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่ตลาดคนไทยเพียงอย่างเดียวจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับตลาดต่างชาติด้วย”
“ชาวรัสเซียยังคงเป็นชาวต่างชาติที่มีความเคลื่อนไหวในตลาดเมืองพัทยาในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2556 และดูเหมือนว่าพวกเขาได้รับผลกระทบไม่มากจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ผู้ซื้อชาวยุโรป อังกฤษ และอเมริกัน ลดน้อยลงมากในช่วงปีที่ผ่านมา” เขากล่าว
สำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ จีน ที่เริ่มเข้ามาในตลาดพัทยามากขึ้น เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งจากฮ่องกง และประเทศจีน อีกประเทศหนึ่งซึ่งมีการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองพัทยามากขึ้น คือ อินเดีย สุรเชษฐ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ทางคอลลิเออร์สคาดการณ์ว่าผู้ซื้อทั้ง 2 ประเทศนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในพัทยามากขึ้นในอนาคต และอาจจะมีจำนวนมากกว่าชาวรัสเซียถ้ายังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
“ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในเมืองพัทยา ณ สิ้นปีพ.ศ.2556 อยู่ที่ประมาณ 55,550 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับปีพ.ศ.2555 เนื่องจากคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ที่เปิดขายในปีพ.ศ.2555 และ 2556 เป็นคอนโดมิเนียมระดับกลาง – ล่าง ปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อค่าก่อสร้างทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าขนส่งสินค้าล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาขายเฉลี่ยในปีพ.ศ.2557 มีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5%” สุรเชษฐ กล่าว
“การชุมนุมประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพมหานครในเดือนธันวาคม ปัพ.ศ.2556 และต่อเนื่องมาปีพ.ศ.2557 ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองพัทยา เพราะมีชาวต่างชาติจำนวนมากยกเลิกโรงแรมที่จองไว้ในช่วงคริสต์มาส และปีใหม่ นอกจากนี้ ถ้าปัญหาการเมืองยังไม่สามารถหาทางออกได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย รวมทั้งพัทยาก็จะได้รับผลกระทบมากกว่านี้อย่างแน่นอน” เขาสรุป